หน้า:พระราชลัญจกร - เสฐียรโกเกศศ - ๒๔๙๓.pdf/45

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๖

เอามาใช้เป็นเครื่องหมายกระทรวงการคลัง แต่รูปนกวายุภักษ์ที่เขียนใหม่ไม่เหมือนนกวายุภักษ์ในตราตำแหน่งพระยาราชภักดีฯ (ดู รูปที่ ๓๑) เรื่องนกวายุภักษ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ตรัสอธิบายไว้ดังนี้

นกวายุภักษ์ ถ้าแปลตามคำก็ว่า นกกินลม ข้อยากในนกนี้เกิดขึ้นในที่ประชุมเสนาบดีสั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนผูกตรากระทรวงต่าง ๆ เป็นลายข้อมือเสื้อเครื่องแบบ หากเป็นกระทรวงเก่าซึ่งมีตราประจำกระทรวงอยู่แล้ว จะเอามาใช้ได้ก็ให้ใช้ตราเก่า ที่เป็นกระทรวงใหม่ไม่มีตรามาแต่เดิมจึงคิดผูกขึ้นใหม่ โดยคำสั่งอย่างนี้ กระทรวงใดก็ไม่ยากเท่ากระทรวงคลังซึ่งเดิมพระยาราชภักดีฯ ทำการในหน้าที่เสนาบดีกระทรวงพระคลังถือตรานกวายุภักษ์ รูปนกวายุภักษ์ในตรานั้นก็เป็นนกแบบสัตว์หิมพานต์เหมือนกับนกอินทรีฉะนั้น ไม่ทรงเชื่อว่าถูก จึงได้ทรงรำลึกต่อไป ก็ทรงรำลึกได้ว่า มี ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งมีความว่า ทรงพระมาลาปักขนนกวายุภักษ์ ก็ทรงค้นหา ก็พบในหมายท้ายหนังสือพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี เมื่อมีคำปรากฏอยู่เช่นนั้น นกวายุภักษ์ก็คือนกการเวก เพราะพระมาลาทุกชะนิดที่ปักขนนกย่อมใช้ขนนกการเวกอย่างเดียวเป็นปรกติ เมื่อทรงพระดำริปรับนกวายุภักษ์กับนกการเวกเข้ากันก็เห็นลงกันได้ โดยทางที่เราพูดกันว่า นกการเวกนั้นมีปรกติอยู่ในเมฆบนฟ้า กินลมเป็น