หน้า:ระเบียบ ศย (๒๕๔๖-๐๑-๑๐).pdf/4

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๖ ก

๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖
หน้า ๑๖
ราชกิจจานุเบกษา

ข้อ  ศาลจะกำหนดให้ผู้ต้องโทษปรับทำงานติดต่อกันทุกวันหรือไม่ก็ได้ แต่ควรกำหนดให้ทำงานอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ วัน และไม่เกิน ๕ วันในแต่ละสัปดาห์ เว้นแต่มีพฤติการณ์พิเศษตามคำร้องขอของผู้ต้องโทษปรับ ศาลอาจกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นอย่างอื่นก็ได้

ข้อ ๑๐ ให้สำนักงานศาลยุติธรรมติดต่อประสานงานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน องค์กรส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือองค์การซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริการสังคม การกุศลสาธารณะหรือสาธารณประโยชน์ เช่น องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก หน่วยงานบริการข่าวสาร บริการสุขาภิบาล หน่วยงานควบคุมป้องกันอัคคีภัย ควบคุมมลภาวะ บรรเทาสาธารณภัย ดูแลรักษาหรือทำความสะอาด ดูแลรักษาสวนสาธารณะ จราจร หน่วยงานจัดทำโครงการฝึกอบรมหรือฝึกหัดงานแก่เยาวชน สถานศึกษา หรือโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ดูแลรักษาคนพิการ เด็ก คนชรา เป็นต้น เพื่อให้รับเป็นผู้ดูแลการทำงาน รวมทั้งให้จัดระบบการติดต่อประสานงานระหว่างศาลกับหน่วยงานดังกล่าว และกำหนดประเภทและลักษณะการทำงาน เพื่อให้ศาลนำมาตรการการทำงานบริการสังคมและสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ข้อ ๑๑ เมื่อได้สั่งให้ผู้ต้องโทษปรับทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องโทษปรับปฏิบัติเพื่อแก้ไขฟื้นฟูหรือป้องกันมิให้ผู้นั้นกระทำความผิดขึ้นอีกก็ได้ เช่น

๑๑.๑ การเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมทางศีลธรรมหรือฝึกวินัย หรือโครงการอื่นตามที่ศาลเห็นสมควร

๑๑.๒ การละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก

๑๑.๓ การห้ามเสพสิ่งเสพติดทุกชนิด

ข้อ ๑๒ เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ทำงานแทนค่าปรับ ให้ศาลแจ้งคำสั่งไปยังผู้ที่ยินยอมรับดูแลและให้แจ้งด้วยว่าเมื่อการทำงานเสร็จสิ้นลงหรือมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ให้ผู้ดูแลรายงานเกี่ยวกับการทำงานให้ศาลทราบด้วย

หมวด ๔
แนวปฏิบัติในการสั่งเปลี่ยนสถานที่กักขัง


ข้อ ๑๓ ในการใช้ดุลพินิจเปลี่ยนสถานที่กักขังตามมาตรา ๒๔ วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายอาญา ศาลอาจขอความร่วมมือจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมราชทัณฑ์