หน้า:รัฐธรรมนูญบริติช (ดิเรก ชัยนาม, 2490).pdf/16

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

วิลเลียมที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๔๔ (ค.ศ. ๑๗๐๑) มีบทบัญญัติหลายเรื่องเกี่ยวกับการปกครองแผ่นดิน อาทิเช่น พระมหากษัตริย์จะเสด็จออกจากดินแดนบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ไม่ได้นอกจากได้รับความยินยอมของรัฐสภา ตุลาการย่อมอยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิตราบเท่าที่ความประพฤติดี เป็นต้น กฎเกณฑ์เช่นว่านี้ เรียกกันว่า "กฎหมายของรัฐธรรมนูญ" (Laws of the Constitution) และศาลสถิตย์ยุติธรรมจะบังคับให้เป็นไปตามนั้น

(๒) กฎเกณฑ์อีกประเภทหนึ่งของรัฐธรรมนูญบริติช คือ กฎเกณฑ์ซึ่งมีผู้เคารพปฏิบัติตามกันมา ทั้ง ๆ ที่กฎเกณฑ์นั้นไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างใด และถึงแม้จะมีผู้ละเมิด ก็ไม่มีใครจับตัวไปลงโทษได้ กฎเกณฑ์เหล่านี้มีมากหลาย ขอยกตัวอย่างเพียงสองกฎ เช่น มีกฎอยู่ว่า คณะรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง หรือมิฉะนั้น ก็ต้องกราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ยุบสภาสามัญ ในกรณีเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่า สภาฯ ไม่ไว้วางใจตนต่อไปแล้ว หรือกฎที่ว่า ในปีหนึ่ง จะต้องมีประชุมรัฐสภาอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ความจริงไม่มีกฎหมายบัญญัติอย่างรัฐธรรมนูญของเราซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา ๔๔ ว่า ในปีหนึ่ง ให้มีสมัยประชุมสามัญของสภาทั้งสองสมัยหนึ่งหรือหลายสมัยแล้วแต่สภาผู้แทนจะกำหนด

กฎเกณฑ์ในประเภทสองนี้ เรียกว่า "ธรรมนิยมแห่งรัฐธรรมนูญ" (Conventions of the Constitution) ตามตัวอย่างอันแรก ปัญหามีว่า ถ้าคณะรัฐมนตรีไม่ลาออกหรือกราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ยุบสภาฯ จะทำอย่างไร ก่อนตอบปัญหานี้ เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่า การประกอบรูปรัฐสภาของอังกฤษนี้มีธรรมเนียม