หน้า:รัฐธรรมนูญบริติช (ดิเรก ชัยนาม, 2490).pdf/17

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันมาหลายร้อยปีว่า ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีบริหารไปตามเจตน์จำนงของประชาชน ฉะนั้น จริงอยู่ ไม่มีกฎหมายใดที่จะบังคับให้รัฐบาลลาออกหรือยุบสภาสามัญได้ในเมื่อแพ้คะแนนเสียงในเรื่องสำคัญ แต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลอยู่ต่อไปไม่ได้ เพราะถือกันว่า ประชาชนทั้งชาติไม่สนับสนุนต่อไป ถ้าขืนอยู่ ก็จะถึงขณะหนึ่งที่รัฐบาลไม่เพียงละเมิดธรรมนิยมแห่งรัฐธรรมนูญ แต่จะกลายไปสู่ขั้นของการละเมิดกฎหมายบ้านเมืองซึ่งมีอยู่เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะสมาชิกซึ่งค้านรัฐบาลก็จะไม่ยอมออกเสียงเห็นชอบกับร่างกฎหมายของรัฐบาล ผลก็เท่ากับไม่ได้มีการประชุมสภา และรัฐบาลก็บริหารไม่ได้ และถ้ารัฐบาลจงใจจะบริหารต่อไป ก็จะปฏิบัติการไปโดยพลการ เพราะสภาสามัญไม่อนุติในกิจการต่าง ๆ ซึ่งตนคิดจะกระทำ

ในกรณีที่ว่า ต้องมีประชุมปีหนึ่งอย่างน้อยหนึ่งสมัย ถ้ารัฐสภาไม่ให้มีการประชุม รัฐบาลก็จะเก็บภาษีอากรไม่ได้ เพราะกฎหมายเรื่องภาษีอากรนั้น รัฐบาลได้รับอนุญาตเป็นปี ๆ

โดยสรุป รัฐธรรมนูญบริติชจึงประกอบด้วยหลัก ๔ ประการ

(๑) หลักประชาธิปไตย เพราะเหตุว่าการบริหารของรัฐบาลทำไปในนามของราษฎรซึ่งเลือกอุดมคติของพรรคใดพรรคหนึ่ง โดยมีคะแนนเสียงส่วนมากเนื่องจากการเลือกตั้งทั่วไป

(๒) หลักรัฐสภา เพราะราษฎรมีผู้แทนของตนในสภาสามัญ ซึ่งถ้ามีกรณีขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจในประเทศ จะเป็นพระมหากษัตริย์ก็ดี รัฐบาลก็ดี สภาขุนนางก็ดี ในที่สุด ต้องยอมให้เป็นไปตามความประสงค์ของสภาสามัญ