หน้า:รัฐธรรมนูญบริติช (ดิเรก ชัยนาม, 2490).pdf/20

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

พระองค์จึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบสำหรับการกระทำของพระองค์ที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการเสมอไป

ปัญหามีต่อไปว่า ถ้ากษัตริย์กับคณะรัฐมนตรีมีความเห็นไม่ตรงกัน จะปฏิบัติอย่างใด คำตอบ ก็คือ คณะรัฐมนตรีต้องลาออก หรือมิฉะนั้น ก็กราบทูลให้ยุบสภาสามัญ เพื่อฟังเสียงราษฎร ซึ่งโดยปกติ พระมหากษัตริย์ไม่ทำ โดยเหตุที่ว่า ถ้าคณะรัฐมนตรีชุดนั้นมีเสียงมากในสภา คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็คงเป็นพรรคเดิมนั่นเอง หรือถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ และพรรคซึ่งสนับสนุนคณะรัฐบาลชุดนั้นกลับเข้ามาอีก ก็เป็นการกะทบกระเทือนถึงฐานะพระมหากษัตริย์เอง ในฐานที่ไม่ปฏิบัติตามเจตน์จำนงของราษฎร ทั้ง ๆ ที่คณะรัฐมนตรีซึ่งราษฎรเลือกตั้งมาได้ถวายคำแนะนำ

บทที่ ๓
นายกรัฐมนตรี

ก่อน พ.ศ. ๒๔๔๙ (ค.ศ. ๑๙๐๖) ตามรัฐธรรมนูญบริติชไม่มีกฎหมายบทใดกล่าวถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (Prime Minister) จนถึงปีที่กล่าวแล้ว จึงมีกฎหมายรับรู้โดยปริยาย โดยวางลำดับเกียรติยศอาวุโสไว้

ฉะนั้น ฐานะนายกรัฐมนตรีของบริติชจึงเป็นมาโดยธรรมเนียมประเพณียิ่งกว่ากฎหมาย และไม่ได้รับพระราชทานเงินเดือน เพราะไม่