หน้า:รัฐธรรมนูญบริติช (ดิเรก ชัยนาม, 2490).pdf/23

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

พรรคฝ่ายค้านนี้อาจมีมากกว่าหนึ่งพรรคขึ้นไปก็ได้ แต่ในทุกวันนี้ มักมีฝ่ายค้านซึ่งยอมรับกันเป็นทางการ (Official Opposition) และมีฉายาว่า ผู้นำทางฝ่ายค้าน (Leader of the Opposition)

ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า เป็นหน้าที่เบื้องต้นของพระมหากษัตริย์ที่จะทรงจัดให้มีรัฐบาลขึ้น แต่ผู้นำในคณะพรรคต่าง ๆ ก็มีหน้าที่เช่นเดียวกันที่จะต้องช่วยพระองค์ หน้าที่อันนี้มีสาม

(๑) ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงหารือ ผู้นำในการเมืองต่าง ๆ ต้องถวายความเห็น

(๒) ถ้าฝ่ายค้านทางการ (Official Opposition) สามารถโค่นรัฐบาลได้ เป็นหน้าที่ของผู้นำของฝ่ายค้านที่จะจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ หรือมิฉะนั้น ก็ต้องถวายคำแนะนำอย่างใดอย่างหนึ่งให้พระมหากษัตริย์ทรงตั้งนายกรัฐมนตรีจนได้ ถ้าไม่เป็นผลอย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องรับผิดในทางศีลธรรมในฐานทำลายเสถียรภาพทางการเมือง

(๓) รัฐบาลที่ลาออกแล้วนั้นจะต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไปตราบเท่าที่ไม่ขัดกับหลักการในรัฐธรรมนูญ

หลักการอันที่สองนี้สำคัญมาก เพราะเขาถือว่า การเล่นการเมืองนั้นไม่ใช่เป็นการแข่งขันกันอย่างเรื่องธรรมดาหรือเพียงแข่งขันในทางนโยบาย แต่เป็นการสู้กันระหว่างบุคคลสองหมู่หรือมากกว่า เพื่อที่จะได้เกียรติยศรับใช้ชาติโดยนำนโยบายของตนซึ่งแถลงต่อราษฎรไว้มาใช้ โดยปกติ พรรคใดพรรคหนึ่งซึ่งไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้คาดหวังจะล้มรัฐบาล แต่การโต้แย้งหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในสภาสามัญนั้นก็เพื่อจูงใจให้ราษฎรเชื่อถือ เป็นการเตรียมตัวให้ได้เสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งคราวต่อไป เพื่อฝ่ายตนจะได้เป็นรัฐบาล