หน้า:รัฐธรรมนูญบริติช (ดิเรก ชัยนาม, 2490).pdf/24

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๐

การค้านจึงเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณา แต่ฝ่ายค้านจะต้องรับผิดชอบในถ้อยคำที่ตนวิพากษ์วิจารณ์หรือในการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ถ้าออกคะแนนเสียงล้มรัฐบาลได้ จะต้องพร้อมที่จะเข้าเป็นรัฐบาลเอง โดยมั่นใจว่า ตนจะมีเสียงพอในสภา แต่ถ้าไม่มีเสียงพอและยังไปล้มรัฐบาลได้ ก็ต้องช่วยพระมหากษัตริย์ในการจัดหารัฐบาลที่จะบริหารโดยมีเสียงสนับสนุนได้ มิฉะนั้น จะแปลว่า การที่ตนทำไปนั้นไม่เป็นไปทางสร้างเลย แต่เป็นการทำลาย เกิดผลเสียหายในการจัดรัฐบาลไม่ได้ เพราะฝ่ายตนล้มรัฐบาล ผลเสียหายนี้จะมีแก่ประเทศชาติอย่างมากมาย

นายกรัฐมนตรีเป็นสื่อติดต่อระหว่างฝ่ายบริหารกับพระมหากษัตริย์ในกิจการทุกอย่าง และเป็นคนกลางระหว่างรัฐมนตรีด้วยกัน ปัญหาสำคัญ ๆ ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าของเรื่องจะต้องเสนอให้นายกทราบก่อน ถ้ามีปัญหาโต้แย้งระหว่างรัฐมนตรีต่างกระทรวงด้วยกัน รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องนั้นจะต้องเสนอให้นายกเป็นผู้วินิจฉัย แต่ในที่สุด ถ้ายังไม่สามารถตกลงกันได้ ก็ไปพิจารณาขั้นสุดท้ายในคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ควบคุมดูแลงานของชาติทุกกระทรวงทะบวงกรม เรื่องใดที่กะทบถึงนโยบายทั่วไปของรัฐบาลแล้ว รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงไม่พึงปฏิบัติ นอกจากจะได้รับคำแนะนำยินยอมจากนายกรัฐมนตรี แม้การแต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงซึ่งบังคับบัญชาก็จะต้องปรึกษาก่อน ในการต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศมีหน้าที่เสนอให้นายกรัฐมนตรีทราบถึงกิจการที่ปฏิบัติไป

อย่างไรก็ดี มีผู้กล่าวว่า อำนาจของนายกรัฐมนตรีบริติชจะมี