หน้า:รัฐธรรมนูญบริติช (ดิเรก ชัยนาม, 2490).pdf/26

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๒

ที่เกี่ยวกับกระทรวงของตน แต่ถ้าเป็นการเปิดอภิปราย (debate) และใช้เวลาหลายวัน ก็อาจมีรัฐมนตรีสองสามนายเข้าช่วยอภิปรายได้ แม้ไม่เกี่ยวกับเรื่องของตน

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า สภาสามัญนั้นมีความสำคัญกว่าสภาขุนนาง เพราะสภาสามัญประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งมา ฉะนั้น การต่อสู้กันในทางการเมืองระหว่างพรรคจึงทำกันในสภานี้ นายกรัฐมนตรีซึ่งมีฐานะคล้ายกับแม่ทัพจึงจำเป็นจะต้องเป็นบุคคลสามัญ เพราะถ้าเป็นขุนนางแล้ว จะเข้ามาประชุมในสภาสามัญไม่ได้ ต้องตั้งรัฐมนตรีอื่นที่เป็นสมาชิกสภาสามัญเป็นผู้โต้แทน ในเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญบริติชต่างกับของไทยเราซึ่งบัญญัติไว้ว่า รัฐมนตรีผู้มิได้เป็นสมาชิก ไม่ว่าแห่งพฤฒสภาหรือสภาผู้แทน มีสิทธิไปประชุมและแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นได้ในสภาทั้งสอง หรือในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเท่านั้น

ได้กล่าวแล้วว่า นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กราบบังคมทูลให้แต่งตั้งรัฐมนตรี เจ้ากระทรวง ได้ ปัญหามีต่อไปว่า มีสิทธิในการกราบบังคมทูลให้ถอดถอนได้หรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญของไทยเรา รัฐมนตรีจะขาดจากตำแหน่งเมื่อตาย หรือลาออก หรือขาดคุณสมบัติตามกฎหมายเลือกตั้งพฤฒสภาหรือสภาผู้แทน หรือสภาผู้แทนลงมติไม่ไว้ใจ ถ้ารัฐมนตรีไม่ยอมออก และจะให้ออกได้จริง ๆ ก็โดยนายกรัฐมนตรีลาออก ซึ่งมีผลเท่ากับคณะรัฐมนตรีลาออกทั้งคณะ แต่ของบริติชนั้น นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลให้ถอดได้ เพราะว่าตามกฎหมายและธรรมเนียมนิยมของบริติชถือว่า รัฐมนตรีหรือเจ้า