หน้า:รัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ๒๕๓๘.pdf/5

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๗ ก

๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘
หน้า ๕
ราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๓๒ ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐด้วยการจัดหาทนายความให้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ในคดีแพ่ง บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๓๓ บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง อันอาจทำให้ตนถูกฟ้องคดีอาญา

ถ้อยคำของบุคคลซึ่งเกิดจากการถูกทรมาน ขู่เข็ญ หรือใช้กำลังบังคับ หรือถ้อยคำที่เกิดจากการกระทำใด ๆ ที่ทำให้เป็นไปโดยไม่สมัครใจ ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

มาตรา ๓๔ บุคคลใดต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด หากปรากฏตามคำพิพากษาของศาลที่รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ในภายหลังว่าบุคคลนั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิด ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทน และได้รับบรรดาสิทธิที่เสียไปเพราะผลแห่งคำพิพากษานั้นคืน ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๓๕ การเกณฑ์แรงงานจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาเป็นการฉุกเฉิน หรือโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้กระทำได้ในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการรบหรือการสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก

มาตรา ๓๖ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในเคหสถาน