หน้า:รับสั่ง - ดำรง - ๒๔๙๓.pdf/28

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๒

เช่น อาสาญี่ปุ่น อาสาจาม ฝรั่งแม่นปืน เป็นต้น คือว่า เวลามีศึกสงคราม ต้องช่วยรบพุ่งตอบแทนที่ได้ตั้งทำมาหากินอยู่เป็นสุข ก็พึงสันนิษฐานว่า พวกจามถนัดในการใช้เรือทะเลมาแต่เดิม จะได้มีหน้าที่เป็นพนักงานเดินเรือกำปั่นหลวงมาแต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์นี้ กำปั่นหลวงเดิมเป็นแต่เรือค้าขายมีมาแต่รัชกาลที่ ๑ ให้พวกอาสาจามเป็นพนักงานเดินเรือกำปั่น คือ เรือทะเลทั้งนั้น มาจนถึงสมัยต่อเรือไฟและเรือรบในรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ ก็ยังใช้พวกอาสาจามเป็นพนักงานเดินเรือ ทหารเรือไทยเพิ่งตั้งขึ้นในรัขกาลที่ ๕ การเดินเรือยังใช้ฝรั่งกับพวกอาสาจามเป็นนาย จนถึงสมัยกรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ จึงได้หัดนายทหารเรือไทยใช้เดือนเรือได้เองมาจนบัดนี้

๖. มีข้อประหลาดในโบราณคดีอยู่อย่างหนึ่งที่ชนชาติเหล่านี้ คือ พะม่า มอญ ไทย เขมร นิสัยเป็นชาวดอนไม่ชอบทะเลด้วยกันทุกชาติมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ใช้เรือก็ถนัดใช้แต่ในแม่น้ำเหมือนกันทุกชาติ จะเป็นเพราะถิ่นเดิมมาแต่เมืองดอนด้วยกันหรืออย่างไร ยังคิดไม่เห็น

๗. นึกเค้าเงื่อนเรื่องจามขึ้นได้อีก ในหนังสือพระราชพงศาวดารมีว่า เมื่อพระรามราชา ราชโอรสสเมด็จพระราเมศวร ครองกรุงศรีอยุธยา เกิดวิวาทกับเจ้าพระยาเสนาบดี ๆ ไปเชิญเจ้านครอินทร์ คือ พระนครินราชา ราชนัดดาของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พะงั่ว) เข้ามาตีได้พระนครศรีอยุธยา แล้วให้สมเด็จพระรามราชาไปครองเมือง "ปทาคูจาม" เมืองปทาคูจามนี้ไม่มีที่อื่นแต่ที่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันตกข้างใต้พระนครศรีอยุธยาลงมาเหนือคลองตะเคียน ยังมีคลองเก่าปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ เรียกว่า "คลองคูจาม" ที่ว่า ให้สมเด็จพระรามราชาไปครองนั้น ที่จริงอาจเป็นให้เอาไปคุมขัง หรือที่สุด ไปปลงพระชนน์ที่ตำบลคูจามนอกพระนคร ตำบลคูจามนั้นชื่อส่อว่า เป็นที่พวกจามที่มาค้าขาย มาใช้เป็นชื่อ