หน้า:รับสั่ง - ดำรง - ๒๔๙๓.pdf/36

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๐

ตอบ กรมนาฬิกาเป็นกรมขึ้นในวัง และหอนาฬิกานั้นชอบกลนักหนา มีเหมือนกันทั้งไทยและพะม่า ประเพณีเดิมทีเดียวเห็นจะมีมาเก่าแก่มาก อาจได้แบบแผนมาจากอินเดียก็เป็นได้ ทำเป็นหอสูง ชั้นยอดของหอแขวนฆ้องใบหนึ่ง กลองใบหนึ่ง ในห้องชั้นต่ำลงมา ตั้งอ่างน้ำ เอากะลาซึ่งวักน้ำเหมาะขนาดที่ลอยอยู่เพียง ๖๐ นาฑีแล้วจม ลอยไว้ในอ่างนั้น มีคนนั่งยามประจำอยู่ เวลาพระอาทิตย์ขึ้น ลอยกะลาซึ่งเรียกตามภาษามคธว่า "นาฬิกา" จึงเข้าใจว่า ได้ตำรามาจากอินเดีย พอนาฬิกาจม คนก็ขึ้นไปตีฆ้อง ในเวลากลางวัน นาฬิกาแรก ตีครั้งหนึ่ง นาฬิกาที่สองที่สาม ก็ตีมากครั้งขึ้นตามลำดับ ที่ในห้องนั้นมีราวสำหรับปักไม้ติ้วเป็นที่สังเกตของคนตี ได้นาฬิกาหนึ่งก็ปักติ้วไว้อันหนึ่ง ถึงอีกนาฬิกาหนึ่งก็ปักติ้วเติมอีกอันหนึ่งเรียงกันต่อไป สำหรับผู้ตีจะได้นับรัวกี่นาฬิกา ถึงเวลาค่ำ พระอาทิตย์ตก ติ้วปักครบ ๑๒ อันแล้ว เอาออกเสียคราวหนึ่ง ด้วยกลางคืนตีกลองแทนฆ้อง ด้วยเหตุนี้แหละ จึงเรียกเป็นคำสามัญว่า "โมง" ในเวลากลางวัน ว่า "ทุ่ม" ในเวลกลางคืน ตามเสียงฆ้องและเสียงกลอง ที่ตีกลองในเวลากลางคืนนั้น เห็นจะเป็นด้วยเสียงกลองดังไปไกลกว่าเสียงฆ้อง

ในเรื่องโรงนาฬิกานี้ยังมีต่อไปอีกอย่างหนึ่ง คือ ถ้าตีโมงหรือทุ่มอื่น ๆ ตีเพียงอัตราทุ่มและโมง ถ้าตีเวลา ๖ นาฬิกา ๑๒ นาฬิกา ต้องตีย่ำฆ้องเสียก่อนลาหนึ่ง แล้วจึงตีบอกอัตรานาฬิกา กลางคืน ตั้งแต่เวลา ๑๘ นาฬิกา ต้องตีย่ำกลองเสียก่อนลาหนึ่ง เรียกว่า ย่ำค่ำ ๒๑ นาฬิกา ย่ำลาหนึ่ง เรียกว่า ยามหนึ่ง เที่ยงคืน ย่ำสองลา เรียก สองยาม ๓ นาฬิกา ย่ำสามลา เรียก สามยาม แล้วตีอัตราต่อ ตอนรุ่งก็ย่ำรุ่ง ตอนเที่ยงก็ย่ำเที่ยง กลางวันก็ย่ำฆ้อง กลางคืนย่ำกลอง