หน้า:รับสั่ง - ดำรง - ๒๔๙๓.pdf/41

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๕

"นาระกา" ในที่นี้คงจะต้องเป็นเปลือกแข็งของลูกมะพร้าวเป็นแน่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ กระลานั่นเอง จึงได้มีการ "ล่ม" กัน

นายแลงกาต์กับข้าพระพุทธเจ้าได้พร้อมกันพลิกดูลักษณะพิศูจน์ดำน้ำลุยเพลิงซึ่งมีพระราชปรารภแต่รัชกาลพระเจ้าอู่ทอง พบความว่า "ตั้งนาลิกา" ในมาตรา ๗ ซึ่งไม่ตรงกันกับที่พระมหาราชครูมหิธรกราบบังคมทูล ได้พิเคราะห์หาร่องรอยที่จะสันนิษฐานว่า เหตุไรพระมหาราชครูมหิธรจึ่งกราบบังคมทูลดั่งนี้ จะหลงก็ไม่สม เพราะพระราชบัญญัติก็สั้น มีความเพียงเจ็ดมาตราเท่านั้น จะว่า มาตราที่กล่าวถึง "นาลิกา" นี้เติมเข้าไปภายหลัง ก็มิต้องเติมภายหลังพระราชกำหนดใหม่ซึ่งมีปีเดือนวันคืนแห่งพระบรมราชโองการแน่นอนว่า จุลศักราช ๑๑๕๘ ปีเถาะ ฯลฯ หรือ และเช่นนั้น เหตุไรจึงเติมลงไปในพระราชบัญญัติโบราณในเมื่อมีพระราชกำหนดใหม่ระบุความค้านอยู่ชัด ๆ ดั่งนี้ หรือจะเติมลงระหว่างตอนกลางหรือปลายของกรุงศรีอยุธยา และพระมหาราชครูมิได้ใช้ฉะบับมีมาตรา ๗ นี้เติมไว้ข้างท้าย เพราะกฎหมายนั้นยังมิได้ชำระเสร็จ เมื่อทรงสั่งในรัชชกาลที่ ๑ เรื่องไม่ให้ใช้นาระกาสำหรับพิศูจน์ดำน้ำนี้ ไปมาก็ไม่มีใครจะตัดสินทางใดลงไปได้ เลยต้องนั่งหัวเราะกันอยู่

อนึ่ง ในมาตรา ๗ ที่กราบทูลอ้างถึงข้างบนนี้ กล่าวความแปลกอยู่ตอนหนึ่ง "…จะดำน้ำกัน ให้อาลักษณ์เอาคำสัจจาธิศถานอ่านประกาษเทพยุดา แล้วให้ โจทก์/จำเลย สะหัวแล้วชนไก่ เมื่อจะลงดำน้ำกันนั้น ให้ปักหลัก" … ข้าพระพุทธเจ้ากับนายแล็งกาต์ได้ลองช่วยกันคิดดูว่า คำว่า "ชนไก่" ในที่นี้แปลว่าอะไร ก็ไม่สำเร็จ ในมาตรา ๑ มีความว่า ให้ตระลาการคุมลูกความทั้งสองไปซื้อไก่อย่างละสองตัว มาตรา ๒ มีกล่าวถึง