หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๑-๑๖).pdf/21

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๖๔

หมวด ๓ ว่าด้วยสภาผู้แทนราษฎร ในหมวดนี้มีลักษณะสำคัญอยู่ ๓ ลักษณะ คือ ลักษณะก่อให้เกิดขึ้นซึ่งสภา ความเป็นอยู่ของสภา สิทธิและหน้าที่ของสภา กำเนิดของสภามาแต่ราษฎรซึ่งแสดงอยู่ในชื่อแล้วว่า สภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนของตน ผู้แทนเหล่านั้นมารวมกันเข้า เรียกว่า สภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่ออกกฎหมายและควบคุมการงานของแผ่นดิน คณะกรรมการราษฎรผู้มีหน้าที่ในทางบริหารก็มาแต่สภานี้ นโยบายใด ๆ ของราชการก็อยู่ในความควบคุมของสภานี้ กรรมการราษฎรทั้งคณะจักต้องลาออกจากหน้าที่ในเมื่อสภาสิ้นความไว้วางใจ ดั่งปรากฏอยู่ในมาตรา ๔๐, ๔๐

หมวด ๔ ว่าด้วยคณะกรรมการราษฎรซึ่งมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน แต่คณะกรรมการราษฎรเหล่านั้น ถ้าไม่ได้รับความไว้วางใจของสภาแล้ว จักต้องออกจากหน้าที่หมด เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะกล้าเข้ารับตำแหน่ง ก็คือ ผู้ที่สภาเห็นชอบด้วยเท่านั้นเอง ดั่งบทบัญญัติในมาตรา ๕๐ และ ๕๑ ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงมาตรา ๕๒ เป็นพิเศษ เพราะมีข้อความที่อาจสะกิดใจ คือ การออกกฎหมายในเมื่อสภามิได้ประชุมกัน ความข้อนี้จำเป็นต้องมี ทุกบ้านทุกเมืองเขาก็มี เพราะเหตุว่า ราชการดำเนิรอยู่ทุก ๆ วัน แต่สภาหาได้มีการประชุมทุก ๆ วันไม่ ในระวางที่สภามิได้ประชุม ถ้าหากจำเป็นจะต้องออกฎหมาย ก็ต้องมีวิธีที่จะออกได้ มิฉะนั้น อาจเป็นการเสีย