หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๑-๒๓).pdf/23

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๗๓

ที่มีน้ำใจอันเที่ยงธรรม เห็นแก่ความมั่นคง ความดี ความงาม ความรุ่งเรืองของบ้านเมืองแล้ว ก็ไม่ควรมีความคิดที่จะทำเช่นนั้น ตามพระราชบัญญัติฉะบับก่อน เจ้าพนักงานไม่มีทางจะทำอย่างไรได้นอกจากสั่งปิด เมื่อสั่งปิดลงไปครั้งใด ความเสียหายไม่ใช่บังเกิดขึ้นแก่หนังสือพิมพ์ผู้กระทำผิด เป็นการเดือดร้อนแก่คนงานซึ่งเป็นลูกจ้างชั้นผู้น้อย บางทีไม่รู้ไม่เห็นในความผิดของหนังสือพิมพ์ ก็พลอยต้องขาดงานทำไปด้วย เพื่อผ่อนผันความข้อนี้ จึ่งคิดว่า เมื่อหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวอันไม่สมควรแล้ว หาอุบายอย่างไร เพียงแต่อย่าให้มีข่าวเช่นนั้นอีก และถ้าไม่จำเป็น ก็อย่าให้ถึงกับเป็นความเดือดร้อนแก่คนงานได้ ในความปราถนาเช่นนี้ เกิดความคิดในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติฉะบับนี้ขึ้น ความในมาตรา ๗ นี้ปรากฎอยู่ชัดในตัวหนังสือนั้นว่า หนังสือพิมพ์ฉะบับใดที่ได้กระทำผิดแล้วตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติฉะบับนี้ หรือได้กระทำผิดแล้วตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญญัติฉะบับก่อน ซึ่งความผิดเหล่านั้นกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานที่จะถอนใบอนุญาตปิดโรงพิมพ์ได้อยู่แล้ว แต่มาตรา ๗ นี้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานที่จะผ่อนผันบรรเทาลงเพียงแต่ต่อไปให้นำข่าวมาให้เจ้าพนักงานตรวจเสียก่อนตามกำหนดเวลาที่เห็นสมควร ดั่งนี้ หนังสือพิมพ์ก็ยังคงออกได้อยู่ คนงานก็ไม่เดือดร้อน เป็นการผ่อนหนักให้เป็นเบา

๓๕