หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๑-๒๕) a.pdf/22

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๘๘

บางทีเขาไม่มีเลยสำหรับบทบัญญัตินั้น และที่เราเขียนเช่นนี้ก็เป็นคั่นหนึ่ง หากว่าจะเขียนอย่างที่เสนอนั้นแล้ว ก็จะเป็นการมัดเป็นคั่นที่ ๒ ส่วนผลที่จะได้ก็เช่นเดียวกัน และในรัฐธรรมนูญประเทศใด ๆ ก็ไม่มีกล่าวไว้ว่า โดยความแนะนำและยินยอมของคณะกรรมการราษฎร และความผูกมัดเช่นนั้นมีข้อสำคัญอยู่ในมาตรา ๕๗ แล้ว

พระยาราชวังสันกล่าวว่า ในเรื่องเช่นนี้ ขอชักตัวอย่างในประเทศอังกฤษ ในการเขียนสั่งการใด ๆ เขาเขียนว่า By Command of His Majesty thd King แล้วเซ็นชื่อรับสนองพระบรมราชโองการ มิได้ใช้ว่า By advice and consent of the Executive Committee

พระยาเทพวิทุรฯ กล่าวว่า ในข้อเหล่านี้ รู้สึกว่า มิใช่ที่เกี่ยวแต่ฉะเพาะ sentiment เท่านั้น แต่เกี่ยวด้วยหลักการด้วย ซึ่งแปรได้ ๓ อย่าง คือ ในมาตรา ๖ ที่ว่าอำนาจนีติบัญญัตินั้น คือ การทำกฎหมายออกกฎหมาย ส่วนมาตรา ๗ อำนาจบริหาร ก็คือ ปฏิบัติหรือทำตามกฎหมาย (Executive) มาตรา ๘ อำนาจตุลาการ คือ แปลกฎหมาย เพราะฉะนั้น ในมาตรา ๖ จึ่งจำเป็นต้องใช้ว่า "ทรงใช้อำนาจนีติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร" เพราะเกี่ยวในการออกกฎหมาย มิใช่โดยคำแนะนำ แต่ความจริงนั้น เป็นการทำตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่าทำอะไรตามชอบใจ เพราะฉะนั้น จึ่งเป็นหลักการ และในมาตรา ๗–๘ ก็เป็นสิ่งที่คล้อยตามหลักสำคัญที่บัญญัติไว้