หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๒-๐๒).pdf/7

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๕๙๐

พระยาอุดมฯ กล่าวว่า ในหน้า ๒ บรรทัดที่ ๑๑ คำว่า "ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระมหากรุณา" นั้น คำว่า "มหา" ดูตามรูปแล้ว แปลว่า เป็นพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นคำสรรพนาม เห็นจะไม่จำเป็นที่จะต้องมีคำว่า "มหา" เพราะไม่เคยเห็นมีที่ไหน

ที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วย เป็นอันให้ตัดคำว่า "มหา" ออก

พระยาพหลฯ เสนอว่า คำว่า พสกนิกร นั้น ควรจะเปลี่ยนเป็นคำใหม่ เพราะฟังดูไม่เข้ากับรัฐธรรมนูญที่กลาวถึงอำนาจอธิปไตยว่า เป็นอำนาจที่มาจากปวงชนทั้งหลาย

พระธรรมนิเทศฯ กล่าวว่า ถ้าจะเปลี่ยนแล้ว ก็ต้องหาคำให้กลืนกันกับคำเดิม เช่น "ประชากร" ก็แปลได้ว่า เป็นประชาชน และเข้ารูปอย่างที่ว่านั้นได้

ที่ประชุมเห็นชอบด้วยและตกลงให้แก้คำว่า "พสกนิกร" เป็น "ประชากร"

ประธานสภาฯ กล่าวว่า บัดนี้ การพิจารณาร่างพระราชปรารภก็เสร็จลงแล้ว ตามที่คณะกรรมการราษฎรเสนอไว้มีว่า จะนำพระราชปรารภนี้ลงไว้เป็นคำนำในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น จึ่งขอให้ที่ประชุมลงคะแนนว่า จะเห็นสมควรหรือไม่ สมาชิกทั้งหมดลงความเห็นพ้องกันว่า เป็นการสมควร เป็นอันว่า ที่ประชุมอนุมัติให้นำคำพระราชปรารภพระราชทานรัฐธรรมนูญลงเป็นคำนำได้