หน้า:ลักษณะการปกครองฯ - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/22

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๓

เป็นต้น ทั้งมีหนังสือจดหมายเหตุซึ่งฝรั่งแต่งไว้ตั้งแต่สมัยในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมเป็นต้นมาอีกจำพวกหนึ่ง แต่ก็ยังต้องอาศัยสันนิษฐานประกอบอีกเป็นอันมาก ถึงชั้นนี้ สังเกตได้ว่า พวกไทยชาวเมืองอู่ทองเคยได้รับความอบรมและเลื่อมใสในประเพณีขอมมากกว่าพวกเมืองสุโขทัย เพราะไทยที่ลงมาอยู่ข้างใต้ได้อยู่ปะปนกับพวกขอมมาช้านาน ข้อนี้จะพึงเห็นได้ในกฎหมายซึ่งตั้งขึ้นในสมัยนี้ชอบใช้ถ้อยคำภาษาเขมรและภาษาสันสกฤตซึ่งพวกขอมชอบใช้ยิ่งกว่าหนังสือซึ่งแต่งครั้งกรุงสุโขทัย จารีตประเพณีก็ชอบใช้ตามคติขอมมากขึ้น มีข้อสำคัญเป็นอุทาหรณ์ เช่น เรื่องทาสกรรมกรในประเพณีไทยแต่เดิมหามีไม่ พวกไทยที่ลงมาอยู่ข้างใต้มารับประพฤติการใช้ทาสตามประเพณีขอม มีความปรากฏในบานแพนกกฎหมายลักษณะลักพาบทหนึ่งว่า เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยากับกรุงสุโขทัยเป็นไมตรีกันนั้น มีผู้ลักพาทาสในกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปเมืองเหนือ พวกเจ้าเงินกราบทูลพระเจ้าอู่ทองขอให้ไปติดตามเอาทาสกลับมาว่า เพราะ "เมืองท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว" ดังนี้ แต่พระเจ้าอู่ทองหาทรงบัญชาตามไม่ ดำรัสสั่งให้ว่ากล่าวเอาแก่ผู้ขายนายประกัน และมีคำซึ่งยังใช้กันมาปรากฏอยู่คำหนึ่งซึ่งเรียกผู้พ้นจากทาสว่า "เป็นไท" ดังนี้ พึงสันนิษฐานได้ว่า เพราะแต่เดิมชนชาติไทยไม่มีที่จะเป็นทาส และไทยมารับใช้ประเพณีทาสกรรมกรจากขอม ทาสจึงได้มีสืบมาในประเทศไทย จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เลิกเสีย