หน้า:ลักษณะการปกครองฯ - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/37

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๘

เสนาบดีกรมนานั้นแต่โบราณมีหน้าที่เป็นพนักงานตรวจตราการทำไร่นาและออกสิทธิ์ที่นา ซึ่งถือว่า เป็นการสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยการทำนาเป็นอาชีพของราษฎรในประเทศนี้ยิ่งกว่าการอย่างอื่น แต่หาได้เกี่ยวข้องถึงให้กรรมสิทธิ์ที่บ้านที่สวนไม่ ที่บ้านกรมเมืองเป็นผู้ให้กรรมสิทธิ์ ที่สวนกรมพระคลังเป็นผู้ให้กรรมสิทธิ์ หน้าที่กรมนาอีกอย่างหนึ่งนั้น คือ เก็บหางข้าวขึ้นฉางหลวง ซึ่งนับว่า เป็นการสำคัญ ด้วยเสบียงอาหารเป็นกำลังของรี้พลสำหรับป้องกันบ้านเมือง แต่โบราณมิได้เรียกเป็นเงินค่านา ใครทำนาได้ข้าว ต้องแบ่งเอามาส่งขึ้นฉางหลวงไว้สำหรับใช้ราชการ จึงเรียกว่า หางข้าว ต่อถึงรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร โปรดให้เปลี่ยนเก็บเป็นตัวเงินแทนข้าวเปลือก เพื่อมิให้ราษฎรได้ความลำบากด้วยต้องขนข้าวมาส่งถึงฉางหลวง จึงได้เรียกว่า ค่านา แต่นั้นมา

ลักษณะการที่แบ่งเป็น ๔ กระทรวงดังกล่าวแล้วมีมาแต่แรกตั้งกรุงศรีอยุธยา หรือบางทีจะมีมาก่อนนั้นขึ้นไปอีกก็เป็นได้ เมื่อถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตั้งเสนาบดีเพิ่มขึ้นอีก ๒ ตำแหน่ง ในหนังสือพระราชพงศาวดารใช้คำว่า "เอาทหารเป็นสมุหพระกลาโหม เอาพลเรือนเป็นสมุหนายก" ดังนี้ คือ ตั้งกระทรวงกลาโหมเป็นหัวหน้าราชการฝ่ายทหารทั่วไป กระทรวงหนึ่ง ตั้งกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าราชการฝ่ายพลเรือนทั่วไป กระทรวงหนึ่ง เสนาบดีหัวหน้า ๒ กระทรวงนี้มียศเป็นอัครมหาเสนาบดี สูงกว่าเสนาบดีจตุสดมภ์ทั้งสี่ ดูเหมือนจะมีหน้าที่ทำนองอย่างเสนาธิการฝ่ายทหาร