หน้า:ลักษณะการปกครองฯ - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/38

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๙

๑ คน ฝ่ายพลเรือน ๑ คน เป็นที่ทรงปรึกษาราชการ ถ้าและราชการฝ่ายทหารเกิดขึ้น สมุหพระกลาโหมก็ได้เป็นประธานที่ประชุมข้าราชการฝ่ายทหารปรึกษาข้อราชการนั้นนำมติขึ้นกราบบังคมทูลฯ และเมื่อมีพระราชโองการดำรัสสั่งราชการอันใด ถ้าและราชการนั้นเป็นฝ่ายทหาร กรมวังผู้ต้นรับสั่งก็หมายบอกมายังกลาโหม ๆ หมายสั่งไปยังกรมทหารทั้งปวง ส่วนราชการฝ่ายพลเรือนก็เป็นหน้าที่ของสมุหนายกมหาดไทยอย่างเดียวกัน และอัครมหาเสนาบดีทั้ง ๒ นี้มีหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาหัวเมืองได้อีกอย่าง ๑ การบังคับหัวเมืองมีปรากฏในหนังสือมองสิเออเดอลาลูแบร์ราชทูตฝรั่งเศสแต่งเมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ว่า มหาดไทยบังคับการฝ่ายพลเรือน กลาโหมบังคับการฝ่ายทหารทุกหัวเมือง จึงสันนิษฐานว่า แบบเดิมจะเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อภายหลังรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มา บางทีจะเป็นด้วยหัวเมืองกบฏในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา หรือเป็นด้วยเห็นว่า สั่งการก้าวก่ายกันนัก จึงเปลี่ยนเป็นให้แบ่งหัวเมืองออกเป็น ๒ ภาค หัวเมืองฝ่ายภาคเหนือให้สมุหนายกมหาดไทยบังคับการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน หัวเมืองภาคใต้ก็ให้สมุหพระกลาโหมบังคับบัญชาเช่นเดียวกัน ครั้นต่อมา (จะเป็นในรัชกาลไหนไม่ทราบแน่) สมุหพระกลาโหมคน ๑ มีความผิด โปรดให้เอาหัวเมืองซึ่งกลาโหมเคยว่ากล่าวนั้นไปขึ้นในกรมท่า คือ เสนาบดีพระคลัง มาจนเมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร จึงโปรดให้คืนหัวเมืองให้กลาโหม คงให้กรมท่าว่าแต่เหล่าหัวเมืองปากอ่าว