หน้า:ลักษณะการปกครองฯ - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/39

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๐

หัวเมืองแยกกันขึ้นอยู่ใน ๓ กระทรวงมาจนเมื่อจัดมณฑลเทศาภิบาลในรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดให้เปลี่ยนเอาการเป็นหลักบังคับหัวเมือง คือ มหาดไทยบังคับการปกครองท้องที่ กลาโหมบังคับฝ่ายทหาร และกระทรวงอื่น ๆ บังคับราชการในกระทรวงนั้นทั่ว ๆ พระราชอาณาเขต

นอกจากกรมกลาโหม มหาดไทย และกรมเมือง วัง คลัง นา มีกรมที่เป็นชั้นรองลงมาสำหรับราชการต่าง ๆ อีกมาก จะพรรณนาให้พิสดารในปาฐกถานี้ เวลาหาพอไม่ ท่านผู้ใดใคร่จะทราบให้พิสดาร จงไปดูทำเนียบศักดินาในหนังสือกฎหมายเก่านั้นเถิด

๑๑. ทีนี้ จะพรรณนาถึงระเบียบการปกครองประเทศไทยแต่โบราณทางฝ่ายตุลาการ คือ ว่าด้วยกฎหมายก่อน แล้วจะว่าด้วยลักษณะการพิจารณาและพิพากษาคดีต่อไป อันกฎหมายย่อมมีพร้อมกันกับการปกครอง ที่การปกครองประชุมชนจะปราศจากกฎหมายนั้นหาได้ไม่ เป็นแต่ต่างประเทศหรือต่างสมัยย่อต่างกันเพียงลักษณะการตั้งและวิธีใช้กฎหมายกับทั้งตัวบทกฎหมายเอง เราท่านทั้งหลายย่อมทราบอยู่ว่า ในประเทศของเราทุกวันนี้ ถ้าตั้งพระราชกำหนดกฎหมายอันใดขึ้นใหม่ ย่อมพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา หนังสือราชกิจจานุเบกษาแพร่หลายไปถึงไหน ก็ทราบความไปถึงนั่นว่า มีบทกฎหมายอย่างนั้น ๆ เจ้าพนักงานที่จะรักษาการหรือจะพิพากษาคดีให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดกฎหมายก็ได้อาศัยอ่านหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาเป็นสำคัญ ก็การพิมพ์หนังสือไทยเพิ่งพิมพ์ได้ยังไม่ถึง ๘๐ ปี ขอให้ท่านทั้งหลายลองนึกดูว่า เมื่อครั้ง