หน้า:ลักษณะการปกครองฯ - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/40

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๑

ยังไม่มีวิธีพิมพ์หนังสือไทย ได้แต่เขียนด้วยมือนั้น การที่คนทั้งหลาย แม้จนผู้บังคับบัญชาการ และผู้พิพากษาตุลาการ จะรู้บทกฎหมายได้ด้วยยากสักปานใด ยิ่งกว่านั้นยังมีอีก ขอให้ลองนึกถอยหลังขึ้นไปสมัยเมื่อก่อนพระเจ้ารามคำแหงมหาราชทรงบัญญัติหนังสือไทยขึ้น ยังไม่มีหนังสือที่จะเขียนภาษาไทย การที่จะตั้งและจะให้รู้กฎหมายบ้านเมืองจะทำกันอย่างไร ข้อนี้ประหลาดที่มีเค้าเงื่อนพอจะทราบได้ ด้วยมีตัวอย่างกฎหมายเก่ากว่าสองพันปีมาแล้วซึ่งตั้งขึ้นด้วยไม่ใช่หนังสือยังปรากฏอยู่ คือ พระวินัยพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ พระสงฆ์ยังท่องจำสวดพระปาติโมกข์กันอยู่ทุกวันนี้ แสดงให้เห็นว่า กฎหมายซึ่งตั้งขึ้นเมื่อก่อนใช้หนังสือคงใช้การท่องจำเป็นสำคัญ และพึงคิดเห็นได้ต่อไปว่า ผู้ซึ่งจะท่องจำไว้ได้ถ้วนถี่คงมีน้อย เพราะเหตุนี้ ความเชื่อถือยุติธรรมในตัวผู้ปกครอง ตั้งแต่ผู้ปกครองครัวเรือนขึ้นไป จึงเป็นข้อสำคัญ และเป็นหลักอันหนึ่งในวิธีปกครองของไทยมาแต่โบราณ กฎหมายซึ่งตั้งครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี แม้เมื่อมีหนังสือไทยแล้ว หามีเหลืออยู่จนบัดนี้ไม่ มีปรากฏแต่กฎหมายซึ่งตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แม้ในรัชกาลพระเจ้าอู่ทอง ก็ยังเหลืออยู่หลายบท พอสังเกตลักษณะการตั้งและรักษากฎหมายสำหรับบ้านเมืองแต่โบราณได้ อันลักษณะการตั้งกฎหมายนั้น แรกทำเป็นหมายประกาศอย่างพิสดาร ขึ้นต้นบอกวันคืน และบอกว่า พระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ที่ไหน ๆ ใครเป็นผู้กราบทูลคดีเรื่องอันใดขึ้นเป็นมูลเหตุ พระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชดำริเห็นอย่างไร ๆ จึงโปรดให้ตราพระราช