หน้า:ลักษณะการปกครองฯ - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/42

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๓

บัวแก้ว เป็นสำคัญทุกเล่มสมุด แล้วโปรดให้รักษาไว้ที่หอหลวง ฉบับ ๑ ที่ศาลาลูกขุนใน ฉบับ ๑ ที่ศาลหลวง ฉบับ ๑ ผู้เป็นเจ้าหน้าที่จะขอลอกคัดเอาสำเนาไปก็ได้ แต่ในการชี้ขาดถือเอาฉบับหลวงเป็นสำคัญ กฎหมายเพิ่งได้พิมพ์เมื่อในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร

วิธีการพิจารณาและพิพากษาคดีในประเทศไทยตามแบบครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานียังใช้ต่อมาในกรุงรัตนโกสินทรจนกระทั่งตั้งกระทรวงยุติธรรมในรัชกาลที่ ๕ เป็นวิธีแปลกที่เอาแบบอินเดียมาประสมกับแบบไทยด้วยความฉลาดในการประสานประโยชน์อันพึงเห็นได้ในเรื่องนี้อีกอย่างหนึ่ง จึงเป็นประเพณีที่ไม่มีเหมือนในประเทศอื่น คือ ใช้บุคคล ๒ จำพวกเป็นพนักงานตุลาการ จำพวกหนึ่งเป็นพราหมณ์ชาวต่างประเทศซึ่งเชี่ยวชาญนิติศาสตร์ เรียกว่า ลูกขุนณศาลหลวง มี ๑๒ คน หัวหน้าเป็นพระมหาราชครูปุโรหิต คน ๑ พระมหาราชครูมหิธร คน ๑ ถือศักดินาเท่าเจ้าพระยา หน้าที่ของลูกขุนณศาลหลวงสำหรับชี้บทกฎหมาย แต่จะบังคับบัญชาอย่างใดไม่ได้ อำนาจการบังคับบัญชาทุกอย่างอยู่กับเจ้าพนักงานที่เป็นไทย ดังจะพึงเห็นได้ในวิธีพิจารณาความซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ ถ้าใครจะฟ้องความ จะเขียนเป็นหนังสือฟ้องไม่ได้ ต้องไปร้องต่อจ่าศาลว่า ประสงค์จะฟ้องความเช่นนั้น ๆ จ่าศาลจดถ้อยคำลงเป็นหนังสือ แล้วมอบให้พนักงานประทับฟ้องนำขึ้นปรึกษาลูกขุนณศาลหลวงว่า เป็นฟ้องต้องตามกฎหมายควรรับพิจารณาหรือไม่ ถ้าลูกขุนเห็นว่า ควรรับ พนักงานประทับฟ้องหารือลูกขุนอีกชั้นหนึ่งว่า เป็นกระทรวงศาลไหนที่จะพิจารณา แล้ว