หน้า:ลักษณะการปกครองฯ - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/48

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๙

กำหนดสงฆ์เป็น ๒ ฝ่ายตามพระพุทธนิยม คือ ฝ่ายคันถธุระ และฝ่ายวิปัสสนาธุระ ฝ่ายคันถธุระถือเป็นหน้าที่ที่จะสั่งสอนพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายถาวร หลักของพระพุทธศาสนา ก็คือ คัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นมคธภาษา เพราะฉะนั้น เบื้องต้นของการที่จะบำเพ็ญกิจฝ่ายคันถธุระจึงต้องเรียนภาษามคธให้รู้แตกฉาน เพื่อจะได้สามารถอ่านพระไตรปิฎกรอบรู้พระธรรมวินัยได้ การเรียนภาษามคธเป็นสำคัญดังกล่าวมา พระเจ้าแผ่นดินจึงทรงอุดหนุนทำนุบำรุงการเล่าเรียนภาษามคธ พระภิกษุองค์ใดเล่าเรียนรอบรู้สอบได้ ก็ทรงตั้งเป็นมหาบาเรียนเป็นชั้นกันตามคุณธรรม และทรงเลือกพระสงฆ์ในพวกเปรียญเป็นพระราชาคณะเป็นพื้น ส่วนวิปัสสนาธุระนั้นถือกิจที่จะกระทำจิตใจให้ผ่องพ้นกิเลสความเศร้าหมองเป็นที่ตั้ง พระภิกษุสงฆ์องค์ใดรอบรู้วิธีสมถะภาวนา สามารถในทางวิปัสสนาธุระ พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงตั้งแต่งเป็นพระราชาคณะฝ่ายสมถะ คนทั้งหลายก็พากันนิยม แต่มักนับถือไปในทางว่าศักดิ์สิทธิ์

ถ้าว่าถึงการปกครองที่เกี่ยวข้องกันในระหว่างศาสนากับบ้านเมือง มีหลักเรียกว่า พุทธจักร อย่าง ๑ อาณาจักร อย่าง ๑ พุทธจักร คือ การรักษาพระธรรมวินัยให้ถูกต้องตามพระพุทธเจ้าบัญญัตินั้นเป็นใหญ่อยู่แก่พระสงฆ์ แม้พระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ใช้พระราชอำนาจบังคับบัญชา ข้อนี้พึงเห็นเช่นการมีพระราชปุจฉา ถ้าพระสงฆ์พร้อมกันถวายวิสัชนาว่า พระธรรมวินัยเป็นอย่างไร ถึงไม่ทรงพระราชดำริเห็นชอบ ก็ทรงอนุมัติตามไม่ฝ่าฝืน จะยกเป็นตัวอย่าง ดังเมื่อ