ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:ลัทธิฯ (๒๖) - ๒๔๗๙ a.pdf/11

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

สำนวนโบราณ เซอร์ ยอชร์ สกอตต์ จึงบอกไว้ว่า เมื่อแปล ต้องอาศัยไต่ถามพะม่าที่เป็นข้าราชการชั้นเก่าด้วย สังเกตดูรูปความกฎมนเทียรบาลพะม่า ก็เป็นทำนองเดียวกันกับกฎมณเฑียรบาลของไทยที่พิมพ์ไว้ในกฎหมายเก่า เห็นได้ว่า พะม่ากับไทยได้ต้นตำรามาจากแหล่งอันเดียวกัน เป็นแต่มาแก้ไขรายการไปตามความนิยมในพื้นเมือง จึงผิดกัน

มูลเหตุที่หม่อมฉันจะแปลนั้น เมื่ออ่านกฎมนเทียรบาลพะม่าแล้ว คิดถึงพระองค์ท่าน ด้วยเคยค้นกฎมณเฑียรบาลหาความรู้โบราณคดีมาด้วยกันตั้งแต่รัชชกาลที่ ๕ นึกว่า ท่านคงจะพอพระหฤทัยที่จะทรงทราบไปถึงกฎมนเทียรบาลพะม่าด้วย ทูลถามไปก็ได้รับลายพระหัตถ์ตรัสตอบมาว่า ถ้าได้ทอดพระเนตรก็จะทรงยินดีมาก หม่อมฉันจึงแปลส่งไปถวายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ เมื่อแปล พิจารณาดูต้นฉะบับภาษาอังกฤษ เห็นสำนวนเป็นอย่างแปลแต่เนื้อความจากฉะบับภาษาพะม่าไปเขียนอธิบายเป็นภาษาอังกฤษให้ฝรั่งเข้าใจ ถ้าแปลเป็นภาษาไทยตามสำนวนที่แต่งภาษาอังกฤษ ดูเหมือนจะกลับทำให้ไทยเข้าใจยากขึ้น หม่อมฉันจึงแปลแต่เนื้อความจากภาษาอังกฤษเหมือนอย่างเซอร์ ยอร์ช สกอตต์ แปลจากภาษาพะม่า แต่ที่เขาอาศัยไต่ถามข้าราชการพะม่า หม่อมฉันเอาความในกฎมณเฑียรบาลไทยกับขนบธรรมเนียมไทยที่มีพ้องกันมาเทียบเคียงในอธิบาย และเอานามศัพท์ในกฎมณเฑียรบาลไทยมาใช้ในที่ความตรงกัน ให้ไทยอ่านเข้าใจง่ายขึ้น