หน้า:ลัทธิฯ (๒๖) - ๒๔๗๙ a.pdf/24

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
12
 

ตั้งพระนามเดียวซ้ำกันกว่าองค์หนึ่งก็มี พิเคราะห์ดูก็เหมือนกับประเพณีไทยแต่โบราณที่ตั้งพระนามเจ้านายเป็นพระราเมศวร พระอาทิตยวงศ์ พระเทพกษัตรีย์ และพระสุริโยทัย เป็นต้น การตั้งพระนามประเภทนี้ ตั้งเมื่อพระองค์ชายเกล้าเกศา พระองค์หญิงเจาะพระกรรณ (ตรงกับพิธีโสกันต์ของไทย) ทำพิธีที่ท้องพระโรงเป็นการเต็มยศและมีสมโภช

พระนามประเภทที่ ๓ นั้น คือ พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้เจ้านายองค์ใดกินเมืองใด ก็เอาชื่อเมืองนั้นมาเรียกเป็นพระนาม เช่น พระเจ้าแผ่นดินพะม่าที่เรียกพระนามในพงศาวดารว่า พระเจ้าสารวดี (สาวัตถี) ก็ดี พระเจ้าพุกาม Pagan ก็ดี พระเจ้ามินดงก็ดี พระเจ้าสีป่อก็ดี ล้วนเรียกตามนามเมืองที่ได้กินเมื่อก่อนเสวยราชย์ทั้งนั้น คำว่า กินเมือง หมายความต่างกันกับ ครองเมือง กินเมือง คือ ได้ส่วยสาอากรที่เกิดในเมืองนั้นเป็นผลประโยชน์ แต่ส่วนพระองค์คงอยู่ในราชธานี ครองเมือง ต้องออกไปประจำบังคับบัญชาการอยู่ที่เมืองนั้น พระนามประเภทที่ ๓ นี้ก็เห็นจะได้พระราชทานพร้อมกับราชทินนามนั่นเอง ประเพณีนี้ก็เหมือนกับประเพณีไทยแต่โบราณ มีอยู่ในกฎมณเฑียรบาลเรียกว่า ลูกเธอกินเมือง

ประเพณีให้กินเมือง พะม่าใช้กว้างขวางมาก พระมเหษี พระมหาอุปราช เจ้านาย และขุนนางผู้ใหญ่ได้กินเมืองทั้งนั้น รองลงมาถึงชั้นนักสนมและขุนนางชั้นรองก็ได้กินบ้านส่วย เพิ่งมาเปลี่ยนประเพณีในรัชกาลพระเจ้ามินดงเมื่อเสียหัวเมืองข้างใต้ไปเป็นของอังกฤษ