หน้า:ลัทธิฯ (๒๖) - ๒๔๗๙ a.pdf/45

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
33
 

เอราวดี และสร้างพระเจดีย์เป็นอนุสรณ์ไว้ตรงที่ปลงพระบรมศพ ต่อมาแปลงเป็นบรรจุพระบรมอัฐิไว้ในพระเจดีย์ที่สร้างเป็นอนุสรณ์แทนเอาไปลอยทิ้งน้ำ ครั้นถึงรัชกาลพระเจ้ามินดง ตรัสสั่งให้บรรจุพระบรมศพของพระองค์ไว้ในวัตถุซึ่งสร้างเป็นอนุสสรณ์ ไม่ต้องทำการถวายพระเพลิง การบรรจุพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินพะม่าจึงเกิดขึ้นเมื่อปลงพระบรมศพพระเจ้ามินดงเป็นครั้งแรก และถือกันว่า บรรจุศพนั้นไม่เป็นการฝัง เพราะศพมิได้อยู่ในแผ่นดิน

รายการเรื่องปลงพระบรมศพพระเจ้ามินดงนั้นว่า เมื่อสวรรคต (วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๑) แล้ว เชิญพระบรมศพจากมนเทียรทองที่เสด็จสวรรคตมาไว้บนพระแท่นตั้งตรงหน้าภมราสนบัลลังก์ในมหามนเทียรแก้ว พระบรมศพหุ้มห่อด้วยผ้าขาว ปิดทองที่พระพักตร์และพระหัตถ์ทั้งสองข้าง รอบพระแท่นตั้งเครื่องต้นเครื่องทรงและเครื่องราชูปโภคกับของโปรดต่าง ๆ กับทั้งเครื่องพระกระยาหาร ต่อออกมาทำรั้วตาข่ายทองวงรอบ มีนางในผลัดกันนั่งประจำปัดแส้ ๔ คน ข้างเบื้องบนแขวนพวงดอกไม้ทองประดับประดา และมีกลอง (ชนะ) ตีประโคมทุกยาม ไว้พระบรมศพเช่นนั้น ๓ วัน (คงมีการพิธีในระหว่างนั้นด้วย แต่มิได้พรรณนา) ถึงวันที่ ๓ อนุญาตให้นักสนมนางในและข้าราชการทั้งปวงเข้าไปถวายบังคม แล้วเชิญพระบรมศพลงหีบทองประดับเนารรัตน์ ตั้งไว้อีก ๓ วัน (สันนิษฐานว่า ระยะ ๓ วันแรกเพื่อต่อหีบพระบรมศพ ต่อมาอีก ๓ วันหลังรอให้การก่อที่บรรจุสำเร็จ)