หน้า:วรรณกรรมต่างเรื่อง - ๒๕๐๕.pdf/8

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
อธิบายบทละคร เรื่อง ระเด่นลันได

บทละคร เรื่อง ระเด่นลันได ถ้าอ่านโดยไม่ทราบเค้ามูล ก็คงจะเข้าใจว่า เป็นบทแต่งสำหรับเล่นละครตลก แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น หนังสือ เรื่อง ระเด่นลันได นี้ ที่แท้เป็นจดหมายเหตุ หากผู้แต่งประสงค์จะจดให้ขบขันสมกับเรื่องที่จริง จึงแกล้งแต่งเป็นบทละครสำหรับอ่านกันเล่น หาได้ตั้งใจจะให้ใช้เป็นบทเล่นละครไม่

เรื่อง ระเด่นลันได เป็นหนังสือแต่งในรัชกาลที่ ๓ เล่ากันมาว่า ครั้งนั้น มีแขกคนหนึ่งชื่อ ลันได ทำนองจะเป็นพวกฮินดูชาวอินเดีย ซัดเซพเนจรเข้ามาอาศัยอยู่ที่ใกล้โบสถ์พราหมณ์ในกรุงเทพฯ เที่ยวสีซอขอทานเขาเลี้ยงชีพเป็นนิจ พูดภาษาไทยก็มิใคร่ได้ หัดร้องเพลงขอทานได้เพียงว่า "สุวรรณหงส์ถูกหอกอย่าบอกใคร บอกใครก็บอกใคร" ร้องทวนอยู่แต่เท่านี้ แขกลันไดเที่ยวขอทานจนคนรู้จักกันโดยมาก ในครั้งนั้น มีแขกอีกคน ๑ เรียกกันว่า แขกประดู่ ทำนองก็จะเป็นคนชาวอินเดียเหมือนกัน ตั้งคอกเลี้ยงวัวนมอยู่ที่หัวป้อม (อยู่ราวที่สนามหน้าศาลสถิตยุติธรรมทุกวันนี้) มีภรรยาเป็นหญิงแขกมลายูชื่อ ประแดะ อยู่มา แขกลันไดกับแขกประดู่เกิดวิวาทกันด้วยเรื่องแย่งหญิงมลายูนั้นโดยทำนองที่กล่าวในเรื่องละคร คนทั้งหลายเห็นเป็นเรื่องขบขัน ก็โจษกันแพร่หลาย พระมหามนตรี (ทรัพย์) ทราบเรื่อง จึงคิดแต่งเป็นบทละครขึ้น

พระมหามนตรี (ทรัพย์) นี้ เป็นกวีที่สามารถในกระบวนแต่งกลอนแปด จะหาตัวเปรียบได้โดยยาก แต่มามีชื่อเสียงโด่งดังในการแต่งกลอนต่อเมื่อถึงแก่กรรมแล้ว เพราะเมื่อมีชีวิตอยู่ ไม่ใคร่พอใจแต่งโดยเปิดเผย หนังสือซึ่งพระมหามนตรี (ทรัพย์) ได้ออกหน้าแต่ง มีปรากฎแต่โคลงฤๅษีดัดตน บท ๑ กับเพลงยาวกลบทชื่อ กบเต้นสามตอน (ซึ่งขึ้นต้นว่า "เจ็บคำจำคิดจิตขวย") บท ๑ เท่านั้น ที่พระมหามนตรี (ทรัพย์) มีชื่อเสียงสืบต่อมาจนรัชกาลหลัง ๆ เพราะแต่งหนังสืออีก ๒ เรื่อง คือ เพลงยาวแต่งว่าพระยามหาเทพ (ทองปาน) เมื่อยังเป็นจมื่นราชามาตย์ เรื่อง ๑ กับบทละคร เรื่อง ระเดนลันได นี้ เรื่อง ๑