หน้า:สนทนากับผู้ร้ายปล้น - ดำรงราชานุภาพ - ๒๔๖๘.pdf/16

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ตอบว่า นักเลงคนใดที่มีพวกมาก ก็เปนหัวหน้าอยู่ในถิ่นนั้น นักเลงที่มีพวกน้อย อยู่ในถิ่นเดียวกันหัวหน้า ก็ต้องอยู่ในถ้อยคำของหัวหน้าถิ่นนั้น

๑๓ ถามว่า ทำไมนักเลงที่มีพวกน้อยต้องอยู่ในถ้อยคำของหัวหน้า จะเปนนักเลงอยู่เฉย ๆ ไม่ยอมอยู่ในถ้อยคำกันไม่ได้หรือ

ตอบว่า ไม่ได้ ถ้านักเลงที่มีพวกน้อยไม่ยอมอยู่ในถ้อยคำหัวหน้าในถิ่นเดียวกัน หัวหน้าก็ให้พวกพ้องข่มเหงทำอันตรายต่าง ๆ เพราะฉนั้น ผู้เปนหัวหน้าย่อมมีอำนาจที่จะเรียกนักเลงผู้น้อยให้ไปปล้นสดมภ์ที่ใด หรือจะห้ามไม่ให้ทำร้ายที่ใด ก็ห้ามได้เหมือนกัน

๑๔ ถามว่า ที่เรียกว่า ถิ่นหนึ่ง ๆ นั้น กำหนดด้วยอย่างไร

ตอบว่า ไม่มีอันใดเปนประมาณ ยกตัวอย่างดังเกาะใหญ่ นับว่า ถิ่นหนึ่ง มีหัวหน้าคนหนึ่ง เชียงรากน้อยอีกถิ่นหนึ่ง คลองสิงหนาทอีกถิ่นหนึ่ง คลองสะอีกถิ่นหนึ่ง ดังนี้เปนตัวอย่าง

๑๕ ถามว่า เปนดังนี้ทั่วไปหรือ

ตอบว่า คนเปนนักเลงคงมีอยู่ทุกแห่ง ผิดกันแต่แห่งละมากบ้างน้อยบ้าง มีนักเลงแล้วก็คงมีหัวหน้า เพราะการปล้นสดมภ์ต้องมีพวก จึงต้องมีหัวหน้าผู้นัดแนะ

๑๖ ถามว่า นักเลงนั้นเกิดแต่คนจำพวกใด

ตอบว่า นักเลงเกิดแต่คน ๓ จำพวกนี้ คือ คนที่ประพฤติสูบฝิ่นกินสุราจำพวกหนึ่ง คนเล่นเบี้ยจำพวกหนึ่ง คนอยู่ในที่เปลี่ยวถิ่นนักเลงจำพวกหนึ่ง