หน้า:สนทนากับผู้ร้ายปล้น - ดำรงราชานุภาพ - ๒๔๖๘.pdf/22

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๑

ตอบว่า ปล้นในถิ่นของตัวกับไปปล้นต่างถิ่นผิดกันดังนี้ คือ

ปล้นในถิ่นของตัวเองนั้น เรื่องสังเกตทางเข้าออกไม่ลำบาก เพราะมักจะเคยไปมารู้ท่าทางอยู่แล้ว แต่ต้องระวังในข้อที่เขาจะจำหน้าได้ เพราะอยู่ใกล้กัน คนรู้จักมาก อีกประการหนึ่ง เมื่อเกิดปล้นสดมภ์แล้ว ต้องระวังอย่าให้ผู้ใหญ่บ้านจับพิรุธได้

ส่วนการที่ไปปล้นต่างถิ่นนั้น ลำบากอยู่ด้วยไม่รู้ลู่ทางที่จะเข้าออกและที่จะหลบหนี เกรงพวกผู้ร้ายเจ้าของถิ่นจะเอาตัวรอด ส่วนตัวไปต่างถิ่นจะหนีไม่พ้น แต่นอกจากนี้ ไม่ต้องกลัวข้ออื่นดังในถิ่นของตนเอง เพราะไปต่างถิ่นแล้ว คนในท้องที่เหล่านั้นไม่ใคร่รู้จัก ถึงเห็นหน้าก็ไม่รู้จักว่า ใครมาแต่ไหน ปล้นแล้วหนีกลับมาถึงบ้านแล้วก็แล้วกัน ไม่มีใครมาตรวจตราติดตาม

๓๒ ถามว่า ผู้ร้ายมีอุบายอย่างใดสำหรับแก้ไขความลำบากเหล่านี้อยู่บ้างหรือไม่

ตอบว่า มี คือ ในข้อที่จะไม่ให้เขารู้จักหน้านั้น คนที่จะทำการใกล้เจ้าทรัพย์ มักใช้คนต่างถิ่นที่เจ้าทรัพย์ไม่รู้จัก ผู้ที่เจ้าทรัพย์รู้จัก เช่น ผู้เปนสาย เปนต้น ทำการแต่ที่ห่าง ดังเช่น คอยระวังทาง เปนต้น บางทีผู้เปนสายที่อยู่ใกล้เจ้าทรัพย์ไม่มาทำการปล้นสดมภ์ด้วย อยู่รับตรวจเสียที่บ้านเรือนหรือช่วยชาวบ้านเอะอะทำเปนไล่ติดตามผู้ร้ายและถึงช่วยยิงผู้ร้ายก็มี แต่คงยิงเสียสูง ๆ ไม่หมายให้ถูก และพาชาวบ้านให้ติดตามไปเสียทางอื่นไม่ให้จับได้ อุบายอิกอย่างหนึ่งนั้น