หน้า:สยามแพทย์ - ๒๔๖๗.pdf/19

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๔
สยามแพทยศาสตร์

แล้วจึงแต่งยาแก้เสมหะต่อไปเถิด ถ้าจะแก้เสมหะพิการ ให้ต้มยาชำระเสียก่อน ท่านให้เอาใบมะขามกำมือ ๑ ใบส้มป่อยกำมือ ๑ ฝางเสนกำมือ ๑ เถาวัลย์เปรียงกอบ ๑ หัวแห้วหมู ๑ สมอไทยเท่าอายุคนป่วย หอม ๗ หัวต้ม ๓ เอา ๑ แซกดีเกลือตามธาตุหนักธาตุเบา แล้วจึงให้กินยาแก้บิดทั้งปวงต่อไปเถิด ฯ

ยาแก้บิดเปนเพื่อธาตุพิการ ท่านให้เอาผลมะม่วงกะล่อน ๑ ผลเบญจกานี ๑ ผลจันทน์ ๑ ครั่ง ๑ ดินกิน ๑ เปลือกมะขามขม ๑ เปลือกมังคุด ๑ เทียนดำ ๑ กระวาน ๑ กานพลู ๑ ยางตะเคียน ๑ น้ำประสานทอง ๑ สีเสียดทั้ง ๒ ผิวมะกรูด ๑ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๑ บาท ฝิ่น ๒ สลึง ตำเปนผง แล้วใส่เข้าในผลทับทิม แล้วเอาขี้วัวพอกชั้นหนึ่ง ดินพอกชั้นหนึ่ง สุมไฟแกลบให้สุก แล้วเอาดินออกเสีย บดผลทับทิมปั้นแท่งไว้ละลายด้วยน้ำไพลหรือน้ำปูนใสก็ได้ กินแก้ปวดมวน แก้โลหิตหรือเสมหะเน่า หายแล ฯ ถ้ายังมิหยุด ท่านให้เอายาแก้ดีพิการนั้นมาแก้ ก็ได้เหมือนกัน แล้วจึงแต่งยาบำรุงธาตุที่ชื่อว่า ธาตุบัญจบ ให้กินเถิด ฯ

ถ้าจะทำยาธาตุบัญจบ ท่านให้ถามตัวคนไข้ว่า เกิดวันใด เดือนใด ปีใด ข้างขึ้นหรือข้างแรม เขาบอกแล้ว จึงพิจารณาดูว่า เปนฤดูธาตุอันใด ให้เอายาประจำฤดูธาตุอันนั้นตั้งไว้เปนประธาน แล้วให้คิดถอยหลังลงไป แล้วเอาวันแลเดือนฤดูมนุษย์ปฏิสนธินั้นวันใด เดือนใด ฤดูใด ธาตุอันใด ให้เอายาที่ประจำธาตุแลฤดูนั้นมาประสมกันเข้ากับยาประจำธาตุเมื่อแรกประสูตร์นั้นเปนยา ๒ ขนาน แล้วจึงแซกจันทน์ทั้ง ๒ กฤษณา ๑ ชลูด ๑ ดอกพิกุล ๑ ดอกบุนนาก ๑ ดอกสาระภี ๑ เกสรบัวหลวง ๑ ขอนดอก ๑ ยา ๙ สิ่งนี้แซกต้มกินหายแล ฯ

ปุพโพ คือ หนอง พิการหรือแตก ให้ไอเปนกำลัง ให้กายซูบผอม