หน้า:สยามแพทย์ - ๒๔๖๗.pdf/4

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
ประวัติย่อ

ขุนพรหมแพทยา นามเดิมชื่อ อิ่ม เกิดในสกุล แพทยานนท์ เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕ เปนบุตรขุนชาติโอสถ (คง) ได้เข้ารับราชการเปนแพทย์หลวงในกระทรวงวัง เมื่อรัชกาลพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๕ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เปนขุนพรหมแพทยา นายเวรกรมแพทย์หลวง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ต่อมาในรัชกาลปัตยุบัน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายแพทย์หลวงบางนายมาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เวลานั้นยังเปนกระทรวงธรรมการอยู่ ขุนพรหมแพทยาจึงได้ปลดจากราชการมาประกอบอาชีวะทางแพทย์เปนการส่วนตัว

ขุนพรหมแพทยาได้อบรมฝึกสอนบุตรหลานให้ศึกษาในวิชาแพทย์เปนอันดี จนมีความรู้เชี่ยวชาญในการตรวจประกอบยาบำบัดโรคตามลัทธิแพทย์ไทยโบราณอันมีชื่อเสียงแพร่หลายอยู่ในเวลานี้ มีอาทิเช่น ขุนอุดมโอสถ กับหมื่นชำนาญแพทยา

ขุนพรหมแพทยาได้ป่วยเปนโรคชรากระเสาะกระแสมาหลายเวลา ครั้นถึงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗ เวลา ๕ ล.ท. ถึงแก่กรรมด้วยอาการศุขภาพปราศจากกระวนกระวายอย่างใดอย่างหนึ่ง อายุนับเรียงปีได้ ๘๓ ปี มีบุตร์ชายหญิงที่เกิดด้วยเกริ่น ภรรยาเดิมซึ่งถึงอก่กรรมเสียเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ นั้น ๘ คน คือ ๑ นายเภา แพทยานนท์ ๒ ขุนอุดมโอสถ (เพ็ชร์ แพทยานนท์) ๓ หมื่นชำนาญแพทยา (พลอย แพทยานนท์) (ขุนอุดมโอสถกับหมื่นชำนาญแพทยาเปนฝาแฝด) ๔ นายเฮ็ง แพทยานนท์ นอกจากนี้ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว กับยังมีบุตร์ชายที่เกิดด้วยกลีบ ภรรยาภายหลัง อิก ๑ นาย ชื่อ ชอุ่ม แพทยานนท์ ยังเยาว์อยู่ รวมบุตรขุนพรหมแพทยานนท์ที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้ ๕ นาย ฯ