หน้า:หนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี (๒๕๖๐-๐๑-๑๐).pdf/5

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้ตรวจสอบแล้ว
บันทึกวิเคราะห์สรุป
สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗
แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..)
พุทธศักราช ....


คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีมติให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ต่อสภานิติบัญญัติเป็นเรื่องด่วน โดยได้จัดทำบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ ดังต่อไปนี้

๑. เหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่าง

เพื่อให้สามารถขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้วนั้นมาแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามที่สำนักราชเลขาธิการแจ้งมาเท่านั้น แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายใหม่ภายในเวลาที่กำหนด

๒. สาระสำคัญของร่าง

๒.๑ เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในกรณีพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง (ร่างมาตรา ๓)

๒.๒ แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ กรณีเมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามวรรคเก้าประกอบกับวรรคสิบแล้ว หากมีกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายในเก้าสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น และแก้ไขเพิ่มเติมคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับพระราชทานคืนมาตามที่ขอ เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันนับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญ หรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้ว มิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป (ร่างมาตรา ๔)