หน้า:หนังสือ นร ๐๕๐๓-๓๓๔๔๙ (๒๕๖๓-๑๐-๒๒).pdf/2

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
– ๒ –

ตามมาตรา ๕ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เวลา ๐๔.๐๐ นาฬิกาเป็นต้นไป ซึ่งต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ให้ความเห็นชอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงดังกล่าวเป็นเวลา ๓๐ วันจนถึงวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓

๓. แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพยายามเข้าควบคุมสถานการณ์ และควบคุมตัวบุคคลบางคนในกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีบทบาทสำคัญในการยุยงและก่อให้เกิดการกระทำความผิด แต่การชุมนุมยังคงมีขึ้นในเวลาต่อมาที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ สี่แยกปทุมวัน และแยกย้ายเป็นกลุ่มไปตามที่ชุมนุมชนต่าง ๆ ศูนย์กลางธุรกิจการค้า และสถานีขนส่งผู้โดยสารอีกหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งในต่างจังหวัด จนน่าวิตกว่าจะกระทบต่อความสงบเรียบร้อย การคมนาคม และเศรษฐกิจในบริเวณใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เตือน ห้ามปราม และพยายามหยุดยั้งการชุมนุม ที่แม้จะมีเสรีภาพและได้รับการคุ้มครองตามมาตรา ๔๔ วรรคแรก ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่การใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐเข้าควบคุมการชุมนุมที่ผิดกฎหมายก็เป็นข้อยกเว้นการใช้เสรีภาพดังกล่าว ตามที่มาตรา ๔๔ วรรคสอง กำหนดให้ทำได้ แต่เมื่อไม่เป็นผลสำเร็จ เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าสกัดและเรียกคืนพื้นที่ อันเป็นขั้นตอนการควบคุมฝูงชนตามมาตรการสากลที่ใช้ในนานาประเทศ เมื่อคืนวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ บริเวณถนนพระรามที่ ๑ ใกล้สี่แยกปทุมวัน อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมยังสามารถนัดแนะทางสื่อต่าง ๆ เพื่อชุมนุมกันต่อมาอีกหลายครั้ง โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ปล่อยตัวผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว และศาลยกคำร้องที่ขอประกันตัว การกยเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ยุบสภาผู้แทนราษฎร แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งข้อเรียกร้องบางเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่แล้ว แม้การชุมนุมบางครั้งและบางแห่งจะเป็นระเบียบและสงบเรียบร้อย แต่บางแห่งยังคงมีการจาบจ้วงบุคคลอื่น การทำลายพระบรมฉายาลักษณ์อันเป็นทรัพย์สินของทางราชการ และการก่อความชุลมุนวุ่นวาย นับเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และไม่อยู่ในความมุ่งหมายของเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ทั้งน่าวิตกว่า อาจมีบางฝ่ายแฝงตัวเข้ามาฉวยโอกาสใช้อาวุธหรือก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย และอาจมีฝ่ายอื่นที่เห็นต่างกันหรือได้รับผลกระทบจากการชุมนุมออกมาจัดการชุมนุมเพื่อตอบโต้หรือต่อต้านบ้างจนเกิดการปะทะกัน อันจะเป็นการจลาจลในบ้านเมืองได้

คณะรัฐมนตรีเห็นว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน จึงสมควรฟังความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามวิธีทางรัฐธรรมนูญ โดยการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามมาตรา ๑๖๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป จักเป็นพระคุณยิ่ง

  • ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
  • พลเอก
  • (ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
  • นายกรัฐมนตรี
  • สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
  • โทร. ๐ ๒๒๘๐ ๙๐๐๐ ต่อ ๑๓๐๓
  • โทรสาร ๐ ๒๒๘๐ ๙๐๕๘