หน้า:หนังสือ สผ ๐๐๑๔-ร ๙ (๒๕๖๓-๐๙-๑๘).pdf/33

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
บันทึกหลักการและเหตุผล
ประกอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..)
พุทธศักราช ....

หลักการ

แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๕๙ และยกเลิกมาตรา ๒๗๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

เหตุผล

โดยที่มาตรา ๒๗๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนั้น เท่ากับให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งมิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีสิทธิในการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย และการให้ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจำกัดเฉพาะผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเท่านั้น เป็นการไม่สอดคล้องตามหลักการประชาธิปไตยและประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกได้รับการคัดเลือกและเสนอชื่อโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติซึ่งสิ้นสุดลงแล้วตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ควรให้สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป ดังงนั้น การเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในครั้งต่อ ๆ ไปจึงควรให้เป็นไปตามมาตรา ๑๕๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และควรกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ด้วย จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๕๙ และยกเลิก ๒๗๒ จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ....