หน้า:หนังสือ สผ ๐๐๑๔-ร ๙ (๒๕๖๓-๐๙-๑๘).pdf/37

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
บันทึกหลักการและเหตุผล
ประกอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..)
พุทธศักราช ....

หลักการ

ยกเลิกมมาตรา ๒๗๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

เหตุผล

การที่มาตรา ๒๗๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของบรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำนั้น ถือเป็นการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของบรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ โดยมิได้คำนึงถึงเนื้อหาของประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำดังกล่าวว่า ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายโดยแท้จริงหรือไม่ การคงบทบัญญัติดังกล่าไว้ ย่อมทำให้เกิดผลว่า แม้ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำนั้นจะละเมิดเสรีภาพของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองไว้ ก็ยังถือว่า ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินี้จึงทำให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะไร้สภาพบังคับ ส่งผลกระทบต่อสถานะความเป็นกฎหมายเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แม้บทบัญญัตินี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อนิรโทษกรรมให้แก่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ แต่เมื่อการกระทำต่าง ๆ ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้รับการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และมาตรา ๒๗๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก็ได้บัญญัติรับรองให้อีกชั้นหนึ่ง เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคงบทบัญญัติดังกล่าวไว้อีก เพราะหากคงไว้ต่อไป นอกจากจะทำให้กระทบต่อการบังคับใช้บทบัญญัติอื่น ๆ ของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังดูเสมือนว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมิได้เป็นไปตามหลักการแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... นี้