หน้า:หลักภาษาไทย อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณะ.pdf/14

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

๒ ชนิด ใช้เรียนโดด ๆ ชนิดหนึ่ง ใช้ประสมกับพยัญชนะอีกชนิดหนึ่ง แต่ในภาษาไทยมีแต่รูปสระที่ใช้ประสมกับพยัญชนะอย่างเดียว เมื่อต้องการจะเขียนโดด ๆ ก็เอาตัว ‘อ’ ซึ่งจัดไว้ในพวกพยัญชนะมาประสมเข้า ออกเสียงเช่นเดียวกับสระเปล่า เช่น อา, อู, เอ เป็นต้น เว้นแต่สระ ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ ๔ ตัวนี้เขียนโดด ๆ ก็ได้ ประสมกับพยัญชนะก็ได้ เช่นเดียวกับสระอังกฤษ และรูปสระนั้นบางทีก็ใช้รูปเดียวเป็นสระหนึ่ง บางทีก็ใช้หลายรูปประสมกันเป็นสระหนึ่ง มีต่าง ๆ กันเป็น ๒๑ รูป ดังนี้:-

(๑) ะ เรียก วิสรรชนีย์ สำหรับประหลังเป็นสระอะ และประสมกับรูปอื่นเป็นสระ เอะ แอะ โอะ เอาะ เออะ เอียะ เอือะ อัวะ

(๒) ั เรียก ไม้ผัดหรือหันอากาศ สำหรับเขียนข้างบนเป็นสระอะ เมื่อมีตัวสะกด และประสมกับรูปอื่นเป็นสระ อัวะ อัว

(๓) ็ เรียกไม้ไต้คู้ สำหรับเขียนข้างบนแทนวิสรรชนีย์ในสระบางตัวที่มีตัวสะกด เช่น เอ็น แอ็น อ็อน ฯลฯ และใช้ประสมกับตัว ก เป็นสระ เอาะ มีไม้โท คือ ก็ (อ่านเก้าะ)

(๔) า เรียก ลากข้าง สำหรับเขียนข้างหลังเป็นสระ อา และประสมกับรูปอื่นเป็นสระ เอาะ อำ เอา

(๕) ิ เรียก พินทุ์ อิ สำหรับเขียนข้างบนเป็นสระอิ และประสมกับรูปอื่นเป็นสระ อี อื อึ เอียะ เอีย เอือะ เอือ และใช้แทนตัว อ ของสระ เออ เมื่อมีตัวสะกดก็ได้ เช่น เกอน เป็น เกิน ฯลฯ

(๖) ' เรียก ฝนทอง สำหรับเขียนข้างบนพินทุ์ อิ เป็นสระ อี และประสมกับรูปอื่นเป็นสระ เอียะ เอีย