เครื่องบูชาไทย ไม่เหมือนกับที่จีนตั้ง จะเรียกว่าเป็นอย่างจีนหรืออย่างไทยไม่ได้ทั้งสองสถาน จึงเรียกว่า อย่างจีนแกมไทย หรือเรียกกันว่า "เครื่องบูชาอย่างโต๊ะจีน"
เครื่องบูชาของจีนเขาใช้ตั้งบนโต๊ะ แต่เป็น ๒ อย่างต่างกัน คือ เป็นโต๊ะเครื่องบูชา อย่าง ๑ เป็นโต๊ะเครื่องเส้น อย่าง ๑ ตั้งด้วยกันบ้าง ตั้งแยกกันบ้าง แล้วแต่ควรแก่การ โต๊ะเครื่องบูชานั้นไทยเราเรียกกันว่า "โต๊ะขวางหลัง" เป็นโต๊ะแคบยาวและสูงกว่าโต๊ะเครื่องเส้น บนโต๊ะเครื่องบูชาตามแบบจีนตั้งของ ๕ สิ่ง คือ เชิงเทียนคู่ ๑ แจกันสำหรับปักดอกไม้คู่ ๑ กระถางสำหรับเผาเครื่องหอมให้เป็นควันใบ ๑ เรียกรวมกันว่า โหงวไส่ โต๊ะเครื่องเส้นนั้น ไทยเราเรียกว่า โต๊ะหน้า เป็นโต๊ะสี่เหลี่ยม เตี้ยกว่าโต๊ะขวางหลัง บนนั้นตามแบบจีน ถ้าจะใช้ในการเส้น แถวหน้าตั้งเครื่องบูชาอย่างน้อย ไทยเราเรียกว่า "เครื่องหน้า" มีเชิงเทียนคู่ ๑ ขวดใบ ๑ สำหรับปักตะเกียบเขี่ยถ่านเครื่องหอม จานเนื้อไม้ ๑ กระถางเผาเครื่องหอมใบ ๑ กลางโต๊ะตั้งเครื่องเส้นตามแต่จะจัด ข้างในตั้งกระถางธูป ไทยเราเรียกว่า "กระถางใน" ปักธูปดอกใหญ่ในนั้น สันนิษฐานว่า จะเส้นสรวงผู้ใด จุดธูปใหญ่เป็นเครื่องหมายเชิญผู้นั้นมารับเครื่องเส้น (ดู รูปที่ ๑๑) โต๊ะเครื่องเส้นมีที่ใช้อิกอย่างหนึ่งในการพระสวดมนต์ ดังเช่นพระญวนทำกงเต๊ก ตั้งลับแลหรือพระพุทธรูป กับขวดปักดอกไม้ไว้แถวหลัง หนัาลับแลต่อออกมาตั้ง "เครื่องหน้า" เช่นกล่าวมาแล้ว ไว้ชานโต๊ะข้างตอนหน้าสำหรับวางหนังสือสวดมนต์และเครื่อง