หน้า:อธิบายเครื่องบูชา - ดำรง - ๒๔๗๑.pdf/16

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๓

ถึงรัชชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเครื่องบูชาอย่างโต๊ะจีน มีงานหลวงเมื่อใด มักโปรดฯ ให้ตั้งเครื่องบูชาประกวดกันเนือง ๆ (ดู รูปที่ ๑๓) และทรงพระราชดำริตั้งแบบแผนเพิ่มเติมขึ้นอิกหลายอย่าง แจ้งอยู่ในหนังสือ "ตำนาน เรื่อง เครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น" ซึ่งข้าพเจ้าแต่งไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยพิสดาร จะยกความมากล่าวในที่นี้แต่ที่พึงใช้ในการตั้งโต๊ะเครื่องบูชากันในปัจจุบันนี้ คือ

 โต๊ะเครื่องบูชาอย่างจีน จัดเปน ๒ อย่าง เรียกว่า "โต๊ะใหญ่" คือ ตั้งทั้งโต๊ะขวางหลังและโต๊ะหน้า อย่าง ๑ "โต๊ะโขก" ตั้งแต่โต๊ะหน้าตัวเดียว อย่าง ๑ เวลามีงานใหญ่ มักตั้งโต๊ะใหญ่ ถ้าเป็นงานที่ต้องการจำนวนโต๊ะตั้งให้มาก มักตั้งโต๊ะโขก เพราะเครื่องโต๊ะอย่างโต๊ะโขกมีมาก หาได้ง่ายกว่าโต๊ะใหญ่

 บรรดาชิ้นที่จะจัดขึ้นบนโต๊ะนั้น จำต้องให้มีหย่องหรือเท้ารองทุกชิ้นไปตามชนิดของชิ้นนั้น ยกเสียแต่บางสิ่ง คือ เชิงเทียน กระถางต้นไม้ หรือตุ๊กกะตาที่มีฐานสำหรับตัวแล้ว ถ้าเป็นตุ๊กกะตาไม่มีฐาน ก็คงต้องมีเท้ารองเหมือนกัน

 บรรดาชิ้นที่ควรเลี่ยม จำต้องให้เลี่ยมทุกชิ้น เว้นไว้แต่สิ่งที่ไม่ต้องเลี่ยม เช่น ตุ๊กกะตาหรือลับแลที่มีกรอบไม้แล้ว เป็นต้น

 บรรดาชิ้นตั้งโต๊ะ จะต้องดูขัดเช็ดให้สอาด อย่าให้เปื้อนเปรอะโสโครกเป็นปฏิกูล ถึงกี๋หย่องและเท้าไม้ตลอดจนตัวโต๊ะก็ควรจะเช็ดล้างให้สอาด