หน้า:อธิบายเครื่องบูชา - ดำรง - ๒๔๗๑.pdf/8

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

(ดู รูปที่ ๘) จีนเรียกว่า "ลายปักโก๊" เป็นของที่ได้เห็นกันมาในประเทศนี้ เห็นจะช้านานแล้ว แต่ตามเรื่องตำนานปรากฎว่า เมื่อในรัชชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสร้างสวนขวาที่ในพระบรมมหาราชวัง (ตรงบริเวณสวนศิวาลัยบัดนี้) ครั้งนั้น ประจวบเวลาราชทูตไทยออกไปเมืองปักกิาฃ ไปได้เครื่องตั้งแต่งเรือนอย่างจีนเข้ามาจัดแต่งพระตำหนักที่ในสวนขวา เป็นเหตุให้เกิดนิยมกันขึ้นเป็นที่แรกว่าเป็นของงามน่าดูถึงเอาไปผูกเป็นลายเขียนผนังโบสถ์ แต่คิดดัดแปลงไปให้เป็นเครื่องพุทธบูชา ยังมีปรากฏอยู่ทุกวันนี้ที่พระอุโบสถวัดราชโอรส (ดู รูปที่ ๙) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างตั้งแต่ยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธออยู่ในรัชชกาลที่ ๒ แล้วเจ้าพระยานิกรบดินทร (โต ต้นสกุล กัลยาณมิตร) เอาอย่างมาเขียนฝาผนังพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตรซึ่งสร้างเมื่อในรัชชกาลที่ ๓ นั้นเป็นต้น สันนิษฐานว่า แม้ในชั้นนั้นก็ยังไม่เกิดเครื่องบูชาอย่างม้าหมู่ มาจนเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบุรณะวัดพระเชตุพน เมื่อจะฉลองวัดพระเชตุพนใน พ.ศ. ๒๓๙๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริหโดยอนุโลมตามลายฮ่อซึ่งเขียนผนังโบสถ์ดังกล่าวมาแล้ว ให้สร้างม้าหมู่ขึ้นสำหรับตั้งเครื่องบูชาหน้าพระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพน เป็นม้าหมู่ใหญ่ ๑๑ ตัว (ดู รูปที่ ๑๐) และทรงพระราชดำริให้สร้างม้าหมู่ขนาดน้อย มีม้าสำหรับตั้งเครื่องบูชาหมู่ละ ๔ ตัว ตั้งประจำพระวิหารทิศ สันนิษฐานว่า เครื่องบูชาอย่างม้าหมู่เกิดมีขึ้นด้วยพระราชดำริของพระบาท