ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:อธิบายเบ็ดเตล็ดฯ พงศาวดารฯ - ดำรง - ๒๔๖๙.pdf/110

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ในสยามประเทศนี้ เมื่อก่อนพุทธศักราช ๑๘๒๖ ยังไม่มีหนังสือไทย ใช้กันแต่หนังสือคฤนถ์ซึ่งพวกพราหมณ์พามาแต่อินเดีย แลต่อมาใช้หนังสือขอมซึ่งพวกขอมคิดแปลงมาแต่หนังสือคฤนต์ ตามที่เคยเห็นศิลาจารึก เห็นใช้เขียนแต่ภาษามคธ ภาษาสันสกฤต แลภาษาขอม ไม่เคยพบจารึกอักษรคฤนถ์เปนภาษาไทยเลย กฎหมายไทยที่ตั้งขึ้นเมื่อกรุงสุโขทัยเปนราชธานีตอนก่อน พ.ศ. ๑๘๒๖ จะให้แปลกลับเปนภาษาขอมหรือภาษาสันสกฤต หรือบางทีจะมีวิธีเขียนภาษาไทยด้วยตัวหนังสือคฤนถ์แลหนังสือขอมอย่างแปลร้อยได้ ข้อนี้หาทราบไม่ แต่การจดลงเปนหนังสือ ไม่ว่าภาษาใด คงเปนหน้าที่พราหมณ์ เพราะผู้ที่รู้หนังสือแลเจ้าตำหรับกฎหมายในเวลานั้นมีอยู่แต่ในพวกพราหมณ์ ด้วยเหตุนี้ พราหมณ์จึงเปนเจ้าหน้าที่สำคัญในการรักษากฎหมายมาแต่โบราณ แม้จะดูในทำเนียบศักดินาพลเรือนในกฎหมายที่ปรากฎอยู่ทุกวันนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ตำแหน่งลูกขุนณศาลหลวงที่สูงศักดิ์ชื่อเปนพราหมณ์ทั้งนั้น สมเด็จพระร่วงเจ้าพระองค์ที่มีพระนามจารึกไว้ว่า พ่อขุนรามคำแหง หรือที่เรียกในหนังสืออื่น มีหนังสือชินกาลมาลินีเปนต้น ว่า พระยารามราช เปนผู้คิดหนังสือไทยขึ้นเมื่อปีมะแม จุลศักราช ๖๔๕ มหาศักราช ๑๒๐๕ ตรงกับพุทธศักราช ๑๘๒๖ เมื่อมีหนังสือไทยขึ้นแล้ว กฎหมายก็ตั้งขึ้นต่อมา หรือกฎหมายเก่าที่มี