หน้า:อธิบายเบ็ดเตล็ดฯ พงศาวดารฯ - ดำรง - ๒๔๖๙.pdf/114

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๐๔

คือ วันอาทิตย์ วันจันทร์ เปนต้น แลนับเดือนตามจันทรคติ ก็ใช้มาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ด้วยปรากฎในศิลาจารึกเหมือนกัน แต่ศักราชครั้งสุโขทัยใช้มหาศักราช ถึงศิลาจารึกในสมัยกรุงศรีอยุธยาชั้นต้นเพียงในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ก็ใช้มหาศักราช แต่ศักราชที่ปรากฎอยู่ในบานแผนกกฎหมายดูใช้ศักราชหลายอย่างปะปนกัน แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ใช้พุทธศักราช รัชกาลต่อ ๆ มาใช้พุทธศักราชบ้าง มหาศักราชบ้าง จุลศักราชบ้าง แลยังมีศักราชอีกอย่างหนึ่งซึ่งข้าพเจ้ายังทราบไม่ได้ว่า ศักราชอะไร โหรเรียกว่า ศักราชจุฬามณี แต่สืบเอาเรื่องเอาเกณฑ์จากโหรยังไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงเรียกไว้ว่า "ศักราชกฎหมาย" ศักราชทั้ง ๔ อย่างนี้จะสอบในหนังสือกฎหมายให้ได้ความว่า แผ่นดินไหนใช้ศักราชอะไร รู้ไม่ได้ ด้วยบานแผนกกฎหมายในแผ่นดินเดียวกันใช้ศักราชต่างกันก็มี ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ที่ศักราชในบานแผนกกฎหมายสับสนกันไป จะเปนเพราะเมื่อเวลาชำระหรือคัดเขียนหนังสือกฎหมายในชั้นหลัง ๆ ผู้คัดอยากจะให้เข้าใจง่าย เลยคิดคำนวณบวกทอนศักราชซึ่งผิดกันกับอย่างที่ใช้อยู่ในเวลานั้นให้เปนอย่างเดียวกัน จับผิดได้ที่ปีนักษัตรที่ควรเปนคู่ ลงศกแลศักราชเปนคี่มีอยู่หลายแห่ง ยังเมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองลบศักราชเอาปีกุญเปนสัมฤทธิศก ก็ทำให้ศักราชเคลื่อนไป ๒ ปี ศักราชที่ใช้ในบานแผนกกฎหมายทั้ง ๔ อย่างสอบได้ดังนี้ คือ (๑) พระพุทธศักราชในกฎหมาย ต้องใช้เกณฑ์