ได้สดับเรื่องราวเล่ามาจากรามัญประเทศว่า เดิมมอญได้มาเปนภาษาสันสกฤต มีพระภิกษุรูป ๑ มาแปลออกเปนภาษามคธที่เมืองรามัญ (แล้วจึงมีผู้แปลออกเปนภาษารามัญอีกที ๑) ข้าพเจ้าได้ให้สืบหาหนังสือพระธรรมศาสตร์รามัญ พึ่งได้มาไม่ช้านัก เปนหนังสือน้อยกว่าพระธรรมศาสตร์อินเดียเปนอันมาก มีภาษามคธชั่วแต่มาติกากฎหมาย นอกนั้นเปนภาษารามัญ ได้วานพระยาโหราฯ แต่ยังเปนหลวงโลกทีป ซึ่งเปนผู้รู้ภาษารามัญ แปลออกดู ได้ความตามมาติกามูลคดีวิวาทของรามัญตรงกับพระธรรมศาสตร์มัธยมประเทศ แลตำนานที่กล่าวในพระธรรมศาสตร์รามัญถึงเรื่องพระเจ้ามหาสมมตราชตรงกับในพระธรรมศาสตร์ของไทย แต่นอกจากนั้นไปคนละทางหมด ข้าพเจ้าเข้าใจว่า พระธรรมศาสตร์มัธยมประเทศซึ่งเปนภาษาสันสกฤตเปนหนังสือในสาสนาพราหมณ์แลเปนหนังสือคัมภีร์ใหญ่ เมื่อพระเอามาแปลที่เมืองรามัญ จะเลือกแปลแต่บางแห่ง แลแปลงเนื้อความที่แปลนั้นให้เปนหนังสือฝ่ายพระพุทธสาสนาด้วย ไทยเราได้พระธรรมศาสตร์มาจากมอญ ดังปรากฎอยู่ในคาถาคำนมัสการข้างต้น เห็นจะได้มาเมื่อกฎหมายไทยเรามีเปนแบบแผนแลจัดเปนหมวดหมู่อยู่อย่างอื่นแล้ว มาจัดเอาเข้ามาติกาพระธรรมศาสตร์เมื่อทีหลัง จึงเข้าไม่ได้สนิธ ข้อนี้จะแลเห็นได้ถนัดในกฎหมาย แม้สังเกตแต่มาติกามูลคดี ๆ รามัญว่า มี ๑๘ เท่าธรรมศาสตร์มัธยมประเทศ แต่มูลคดีในพระธรรมศาสตร์ไทยขยายออกไปเปน ๒๙ เห็นผิดกันมากอยู่ดังนี้
หน้า:อธิบายเบ็ดเตล็ดฯ พงศาวดารฯ - ดำรง - ๒๔๖๙.pdf/122
หน้าตา