อธิบายเรื่องพระมหาอุปราช
คำที่เรียกว่า อุปราช หรือ ยุวราช ตามตำราที่มาจากมัธยมประเทศ จะมาโดยทางข้างพระพุทธศาสนาก็ตาม หรือในทางข้างไสยศาสตร์ก็ตาม ยุติต้องกันว่า เป็นผู้ที่พระเจ้าแผ่นดินอภิเษกไว้รับรัชทายาท เพราะฉะนั้น โดยปรกติย่อมเป็นสมเด็จพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ในกฎมนเทียรบาลซึ่งตั้งขึ้นครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถบัญญัติเรื่องอุปราชนี้แปลกอยู่
กฎมนเทียรบาลที่พิมพ์ในบานแพนกว่า ตั้งเมื่อปีชวด จุลศักราช ๗๒๐ คือ ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ นั้นผิด จุลศักราช ๗๒๐ นั้นเป็นปีจอ มิใช่ปีชวด ที่จริงควรจะเป็นปีชวด จุลศักราช ๗๘๐ ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งมีพยานเห็นได้ในกฎหมายนั้นเองที่กล่าวถึงศักดินาต่าง ๆ เป็นของที่ตั้งในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ยังไม่มี
ในกฎมนเทียรบาลว่า "พระราชกุมารอันเกิดจากพระอัครมเหสี คือ หน่อสมเด็จพระพุทธเจ้า พระราชกุมารเกิดจากแม่หยั่วเมืองเป็นพระมหาอุปราช" ดังนี้ ทำให้เข้าใจว่า พระราชกุมารที่จะอภิเษกเป็นรัชทายาทนั้น ถ้าเกิดจากพระอัครมเหสีเรียก "หน่อสมเด็จพระพุทธเจ้า" ถ้าเกิดจากพระมารดาซึ่งมีบรรดาศักดิ์ชั้นรองลงมา จึงเรียกว่า "พระมหา