ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:อธิบายเบ็ดเตล็ดฯ พงศาวดารฯ - ดำรง - ๒๔๖๙.pdf/38

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๘

ยกย่องให้มีพระเกียรติยศเปนพระมหาอุปราช ทำนองที่เรียกกันในชั้นหลังว่า พระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อย แต่ในครั้งนั้นจะเรียกอย่างไรแลให้กำลังวังชาอย่างไร ทราบไม่ได้

ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ประเพณีที่มีเจ้านายซึ่งทรงศักดิ์สูงสุด ๒ พระองค์อยู่ในราชธานี ที่เขมรเรียกว่า มหาอุปโยราช แลมหาอุปราชก็ดี ที่ไทยเราเรียก พระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อยก็ดี วังหน้า วังหลังก็ดี น่าจะมีขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเปนปฐม

มีความกล่าวไว้ในหนังสือพงศาวดารเขมรแห่ง ๑ ว่า “ลุศักราช ๙๔๖ (ตรงรัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช) ศกวอกนักษัตร แต่พระองค์ (นักพระสัฏฐา) ทรงราชย์มาได้ ๙ ปี พระชันษาได้ ๓๒ ปี พระองค์สบพระราชหฤทัยด้วยสมเด็จพระราชบุตรทั้ง ๒ พระองค์ ให้ทรงราชย์เปนเสด็จ คือ กษัตริย์ ทั้ง ๒ พระองค์ พระราชบุตรผู้พี่นั้นปีวอก พระชันษาได้ ๑๑ ปี ได้อภิเษกน้ำสังข์สรงพระเกศ ทรงพระนารายณ์ ทรงพระขรรค์ ทรงพระนามพระบาทสมเด็จเสด็จพระไชยเชษฐาธิราชรามาธิบดี พระราชบุตรผู้น้อยนั้นปีชวด พระชันษาได้ ๖ ปี อภิเษกทรงน้ำสังข์สรงพระเกศ ทรงพระนารายณ์ ทรงพระขรรค์ ทรงพระนามพระบาทสมเด็จบรมราชาธิราชรามาธิบดี พระบาทบรมบพิตรทั้ง ๓ พระองค์ทรงราชย์” ดังนี้ เขมรชอบเอาอย่างไทยเปนปรกติ เห็นได้ตั้งแต่พระนามพระเจ้ากรุงกัมพูชาตลอดมา ก็เอาอย่างพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา จะถ่ายแบบสมเด็จพระมหาจักรพรรดิตั้งพระราเมศวรกับพระมหินทรไป