หน้า:เครื่องมโหรีฯ - ดำรง - ๒๔๗๑.pdf/12

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ครั้นต่อมา เอากลองแขกกับปี่อ้อออกเสีย ใช้ทับกับรำมะนาและขลุ่ยแทน เรียกว่า "มะโหรีเครื่องสาย" บางวงก็เติมระนาดและฆ้องเข้าด้วย จึงเกิดมีมะโหรีเครื่องสายผู้ชายเล่นแทนมะโหรีผู้หญิงอย่างเดิมสืบมาจนทุกวันนี้ ที่ผู้หญิงหัดเล่นก็มี แต่น้อยกว่าผู้ชายเล่น เรื่องตำนานเครื่องมะโหรีมีมาดังนี้

เรื่องตำนานเครื่องปี่พาทย์

ตำราปี่พาทย์ที่เราได้แบบมาจากอินเดียนั้นกำหนดว่า วงหนึ่งมีเครื่อง ๕ สิ่ง คือ สุศิระ ได้แก่ ปี่ เป็นเครื่องทำลำนำ ๑ อาตะตะ ได้แก่ กลองขึ้นหนังหน้าเดียว ๑ วิตะตะ ได้แก่กลองขึ้นหนังทั้งสองหน้าด้วยร้อยผูก ๑ อาตะวิตะตะ ได้แก่ กลองขึ้นหนังสือกรึงแน่นทั้งสองหน้า ๑ เป็นเครื่องทำเพลงรวม ๓ สิ่ง ฆะนะ ได้แก่ ฆ้อง เป็นเครื่องทำจังหวะ ๑ ทั้ง ๕ สิ่งนี้เรียกรวมกันว่า "เบ็ญจดุริยางค์" ปี่พาทย์เครื่องห้าที่ไทยเราใช้กันมาแต่โบราณมาแต่เบญจดุริยางค์ที่กล่าวมา แต่มีต่างกันเป็น ๒ ชนิด เป็นเครื่องอย่างเบา ใช้เล่นละคอนกันในพื้นเมือง (เช่น พวกโนห์ราทางหัวเมืองปักษ์ใต้ยังใช้อยู่จนทุกวันนี้) ชะนิด ๑ เครื่องอย่างหนัก สำหรับใช้เล่นโขน ชะนิด ๑ ปี่พาทย์ทั้ง ๒ ชะนิดที่กล่าวมานี้ คนทำวงละ ๕ คนเหมือนกัน แต่ใช้เครื่องผิดกัน ปี่พาทย์เครื่องเบาวงหนึ่งมีปี่เป็นเครื่องทำลำนำ ๑ ทับ ๒ กลอง ๑ ฆ้องคู่ เป็นเครื่องทำจังหวะ ๑ ลักษณะตรงตำราเดิม ผิดกันแต่ใช้ทับแทนโทลใบ ๑ เท่านั้น ส่วนปี่พาทย์เครื่องหนักนั้น วงหนึ่งมีปี่ ๑ ระนาด ๑ ฆ้องวง ๑ กลอง ๑ โทล (ตะโพน) ๑ ใช้โทลเป็นเครื่องทำเพลงและจังหวะไปด้วยกัน ถ้าทำลำนำที่ไม่ใช้โทล ก็ให้คนโทลตีฉิ่งให้จังหวะ เหตุที่ผิดกันเช่นนี้ เห็นจะ