หน้า:เครื่องมโหรีฯ - ดำรง - ๒๔๗๑.pdf/13

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เป็นเพราะการเล่นละคอนมีขับร้องและเจรจาสลับกับปี่พาทย์ ๆ ไม่ต้องทำพักละช้านานเท่าใดนัก แต่การเล่นโขนต้องทำปี่พาทย์พักละนาน ๆ จึงต้องแก้ไขให้มีเครื่องทำลำนำมากขึ้น แต่การเล่นละคอน ตั้งแต่เกิดมีละคอนในขึ้น เปลี่ยนมาใ้ชปี่พาทย์เครื่องหนักอย่างโขน ปี่พาทย์ที่เล่นกันในราชธานีจึงใช้แต่ปี่พาทย์เครื่องหนักเป็นพื้น

เรื่องตำนานการที่แก้ไขเพิ่มเติมเครื่องปี่พาทย์ไทย พิเคราะห์ดูตามเค้าเงื่อนที่มีอยู่ ดูเหมือนจะแก้ไขมาเป็นชั้น ๆ ทำนองดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ ปี่พาทย์เครื่องหนักในสมัยเมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีปี่เลา ๑ ระนาดราง ๑ ฆ้องวง ๑ ฉิ่งกับโทลใบ ๑ กลองใบ ๑ รวมเป็น ๕ ด้วยกัน แต่ปี่นั้นใช้ขนาดย่อมอย่างที่เรียกว่า "ปี่นอก" กลองก็ใช้ขนาดย่อมอย่างเช่นเล่นหนัง แก้ไขชั้นแรก คือ ทำปี่และกลองให้เขื่องขึ้นสำหรับใช้กับเครื่องปี่พาทย์ที่เล่นในร่มเพื่อเล่นโขนหรือละคอนใน ปี่ที่มีขึ้นใหม่นี้เรียกว่า "ปี่ใน" ส่วนปี่และกลองขนาดย่อมของเดิมคงใช้ในเครื่องปี่พาทย์เวลาทำกลางแจ้ง เช่น เล่นหนัง จึงเกิดปี่นอก ปี่ใน ขึ้นเป็น ๒ อย่าง การแก้ไขที่กล่าวมานี้ จะแก้ไขแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา หรือมาแก้ไขในกรุงรัตนโกสินทร ข้อนี้ไม่ทราบแน่.

เมื่อในรัชชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดฯ ทั้งละคอนและเสภา มีคำเล่ากันสืบมาว่า เมื่อก่อนรัชชกาลที่ ๒ ประเพณีที่จะส่งปี่พาทย์หามีไม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชดำริให้เสภาขับส่งปี่พาทย์ (อย่างเช่นมะโหรี) ขึ้นเป็นปฐม ดังนี้ ที่เอาเปิงมางสองหน้าเข้าใช้ในเครื่องปี่