หน้า:เครื่องมโหรีฯ - ดำรง - ๒๔๗๑.pdf/14

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

พาทย์ ก็คงเอาเข้าในคราวนี้นั้นเองสำหรับตีรับเสภาเป็นเดิมมา ด้วยเสียงเบาเข้ากับขับร้องดีกว่าโทล (ตะโพน) ปี่พาทย์รับเสภาจึงใช้เปิงมางสองหน้ามาจนทุกวันนี้ การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแก้ไขกระบวนเสภาเช่นว่ามา ชวนให้คิดเห็นว่า บางทีปี่พาทย์ละคอนก็จะทรงแก้ไขให้เสียงปี่พาทย์เข้ากับละคอนดีขึ้น ถ้าเช่นนั้น ปี่ในและกลองขนาดเขื่องกว่ากลองหนังที่ว่ามาแล้ว ก็เห็นจะเป็นของเกิดขึ้นในรัชชกาลที่ ๒ แต่เครื่องปี่พาทย์ก็ยังคงเป็นแต่เครื่อง ๕ ต่อมา.

ได้กล่าวมาข้างต้นว่า ปี่พาทย์เดิมเป็นเครื่องอุปกรณ์การฟ้อนรำ เช่น เล่นหนังและโขนละคอน เป็นต้น หรือทำเป็นเครื่องประโคมให้ครึกครื้น ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชดำริให้เสภาขับส่งปี่พาทย์ ๆ ก็กลายเป็นเครื่องสำหรับให้ไพเราะโดยลำพัง เพราะฉะนั้น เมื่อเล่นเสภาส่งปี่พาทย์กันแพร่หลายต่อมาถึงรัชชกาลที่ ๓ จึงมีผู้คิดเครื่องปี่พาทย์เพิ่มเติมขึ้นให้เป็นคู่หมดทุกอย่าง คือ.

 เอาปี่นอกมาเป็นคู่กับปี่ใน

 คิดทำระนาดทุ้มขึ้นเป็นคู่กับระนาดเอก

 คิดทำฆ้องวงเล็กขึ้นเป็นคู่กับฆ้องวงใหญ่

 เอาเปิงมางสองหน้าให้คนกลองตีเป็นคู่กับโทล (ตะโพน)

 เอาฉาบเติมขึ้นให้คนกลองตีเป็นคู่กับฉิ่ง

 เติมกลองขึ้นอิกใบหนึ่งให้เป็นคู่[1]


  1. การที่เติมกลองเป็นคู่ บางทีจะเติมมาแต่ในรัชชกาลที่ ๒