หน้า:เครื่องมโหรีฯ - ดำรง - ๒๔๗๑.pdf/6

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
อธิบาย เรื่อง มะโหรีปี่พาทย์

เครื่องสังคีตดีดสีตีเป่าของไทยเรา โดยมากได้แบบอย่างมาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์ เหมือนกันกับพวกเขมรมอญพะม่าและชะวามะลายู เพราะเช่นนั้น เครื่องดีดสีตีเป่าของชนชาวประเทศเหล่านี้จึงคล้ายคลึงกัน ยังสังเกตเห็นได้จนทุกวันนี้

ก็เครื่องสังคีตของชาวอินเดียอันเป็นต้นตำราเดิมนั้น ในคัมภีร์สังคีตรัตนากร[1] จำแนกเป็น ๔ ประเภทต่างกัน เรียกในภาษาสันสกฤตดังนี้ คือ

๑) ตะตะ เป็นเครื่องประเภทที่มีสายสำหรับดีดสีเป็นเสียง

๒) สุศิระ เป็นเครื่องประเภทที่เป่าเป็นเสียง

๓) อะวะนัทธะ เป็นเครื่องประเภทที่หุ่มหนังตีเป็นเสียง

๔) ฆะนะ เป็นเครื่องประเภทที่ (มักทำด้วยโลหะ) กระทบเป็นเสียง

เครื่อง ๔ ประเภทที่กล่าวมานี้ ในคัมภีร์สังคีตรัตนากรบอกอธิบายว่า เครื่องประเภทตะตะ (เครื่องสาย) กับสุศิระ (เครื่องเป่า) นั้น สำหรับทำให้เป็นลำนำ เครื่องประเภทอะวะนัทธะ (เครื่องตี) นั้น สำหรับประกอบเพลง ส่วนเครื่องประเภทฆะนะ (เครื่องกระทบ) นั้น สำหรับทำจังหวะ

เครื่องในประเภทหนึ่ง ๆ มีมากมายหลายอย่าง เช่น ประเภทเครื่องสายนั้น พิณสายเดียว (คือ พิณน้ำเต้า ยังมีตัวอย่างอยู่) เป็นของเดิม 


  1. คัมภีร์นี้เปนภาษาสันสกฤต พราหมณ์กุปปุสสวามีช่วยแปลอธิบายให้