หน้า:เครื่องมโหรีฯ - ดำรง - ๒๔๗๑.pdf/7

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ครั้นต่อมา มีผู้คิดเพิ่มเติมเป็นสองสาย สามสาย เจ็ดสาย เก้าสาย จนถึงยี่สิบเอ็ดสาย และเรียกชื่อต่าง ๆ กัน แต่พิณทุกชะนิดย่อมเป็นเครื่องสำหรับดีดลำนำประสานกับเสียงขับร้อง ใครขับร้องก็ถือพิณดีดเอง ดังเช่นที่กล่าวว่า คนธรรพ์ "จับพิณเข้าประสานสำเนียงครวญ" ขับเย้ยพระยาครุฑในเรื่องกากี เป็นตัวอย่าง เมื่อพิณทำเป็นหลายสาย ตัวพิณก็ย่อมเขื่องขึ้นและหนักขึ้นทุกที บางอย่างจะถือดีดไม่ไหว ต้องเอาลงวางดีดกับพื้น จึงเกิดเครื่องวางดีด เช่น จะเข้ เป็นต้น แล้วเกิดเครื่องวางสี เช่น ซอ ต่อมา ล้วนเนื่องมาแต่พิณทั้งนั้น ในตำราสังคีตรัตนากรจึงนับไว้ในประเภทเดียวกัน เรียกว่า ตะตะ ไทยเราเรียกว่า เครื่องดีดสี

เครื่องในประเภทพวกสุศิระ คือ เครื่องเป่า นั้น ก็มีหลายอย่างต่างกัน เป็นต้นแต่ผิวปาก เป่าใบไม้ เป่าหลอด เป่าสังข์ เป่าแตร เป่าขลุ่ย เป่าปี่ เป่าแคน ตลอดจนเป่าเขาสัตว์ให้เป็นเสียง ก็นับอยู่ในพวกสุศิระทั้งนั้น

เครื่องในประเภทอะวะนัทธะนั้น คือ กลองต่าง ๆ ทั้งจำพวกที่ขึ้นหนังหน้าเดียว ดังเช่น ทับ (ซึ่งเรียกกันเป็นสามัญว่า โทล) รำมะนา แลกลองยาว เหล่านี้ และจำพวกที่ขึ้นหนังทั้งสองหน้าด้วยร้อยผูก ดังเช่น บัณเฑาะว์ โทล (ซึ่งเรียกกันเป็นสามัญว่า ตะโพน) เปิงมาง กลองชะนะ กลองแขก กลองมะลายู เหล่านี้ และจำพวกกลองที่ขึ้นหนังกรึงแน่นทั้งสองหน้า ดังเช่น กลองโขน กลองละคอน ก็นับเป็นอะวะนัทธะทั้งสิ้น

เครื่องในประเภทฆะนะนั้น นับตั้งแต่ตบมือเป็นจังหวะ เรียกว่า กรดาล ถ้าใช้เครื่องทำจังหวะ มักทำด้วยโลหะเป็นพื้น มีมากมายหลายอย่าง คือ ฉิ่ง (ภาษาสันสกฤตเรียกว่า กังสดาล) ฉาบ ลูกพรวน กระดิ่ง