หน้า:เครื่องมโหรีฯ - ดำรง - ๒๔๗๑.pdf/9

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
เรื่องตำนานเครื่องมะโหรี

กระบวนเล่นเครื่องดีดสีใมประเทศสยามนี้มีเค้าของเดิมเป็น ๒ อย่าง เรียกในภาษาไทยว่า "บรรเลงพิณ" อย่าง ๑ "ขับไม้" อย่าง ๑ บรรเลงพิณนั้นใช้แต่พิณน้ำเต้าสิ่งเดียว ผู้ใดเป็นคนขับร้อง ก็ดีดพิณเอง ทำเพลงเข้ากับลำนำที่ตนร้อง พิณน้ำเต้าเดี๋ยวนี้ผู้ที่ดีดได้มีน้อยเสียแล้ว ด้วยเปลี่ยนใช้ซอแทน แต่กลายเป็นสำหรับคนชั้นต่ำ เช่น คนขอทานยังมีเล่นอยู่

ขับไม้นั้น คนเล่น ๓ คนด้วยกัน เป็นคนขับร้องลำนำคน ๑ คนสีซอสามสายประสานเสียงคน ๑ คนไกวบัณเฑาะว์ให้จังหวะคน ๑ เดี๋ยวนี้ยังมีแต่ของหลวงสำหรับเล่นในงานสมโภช เช่น สมโภชพระมหาเศตวฉัตร เป็นต้น บรรเลงพิณและขับไม้ ๒ อย่างนี้เป็นของผู้ชายเล่นทั้ง ๒ อย่าง

เครื่องดีดสีซึ่งมาคิดประดิษฐ์ขึ้น เรียกว่า "มะโหรี" นั้น เห็นจะเป็นของพวกขอมคิดขึ้นก่อน ไทยรับแบบอย่างและแก้ไขต่อมา เดิมก็เป็นของผู้ชายเล่น แต่ต่อมาเมื่อเกิดชอบฟังมะโหรีกันแพร่หลาย ผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งมีบริวารมากจึงมักหัดผู้หญิงเป็นมะโหรี ๆ ก็กลายเป็นของผู้หญิงเล่นมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี มะโหรีชั้นเดิมวงหนึ่งคนเล่นเพียง ๔ คน เป็นคนขับร้องลำนำและตีกรับพวงให้จังหวะเองคน ๑ สีซอสามสายประสานเสียงคน ๑ ดีดกระจับปี่ให้ลำนำคน ๑ ตีทับประสานจังหวะกับลำนำคน ๑ เครื่องมะโหรีทั้ง ๔ สิ่งที่พรรณนามานี้ พึงสังเกตเห็นได้ว่า มิใช่อื่น คือ เอาเครื่องบรรเลงพิณกับเครื่องขับไม้มารวมกันนั้นเอง เป็นแต่ใช้ดีดกระจับปี่แทนพิณ ตีทับแทนไกวบัณเฑาะว์ และเติมกรับพวงสำหรับให้จังหวะเข้าอีกอย่าง ๑